Translate

วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อารมณ์โคจร

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

                                                                 สรุปโดยย่อ
                                           
                                              สกุณัคฆีสูตร  (ว่าด้วยอารมณ์โคจร)

จาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ หน้า ๓๘๖

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม แก่ภิกษุทั้งหลาย  โดยยกเรื่องที่เคยเกิดในอดีต ว่า นกมูลไถได้ถูกเหยี่ยวจับไป  เพราะเที่ยวไปในถิ่นของผู้อื่น  อันไม่ใช่ถิ่นหากินของตน ด้วยคิดว่า  จักลองหาอาหารในถิ่นอื่นบ้าง  ขณะที่นกมูลไถกำลังหาอาหารอยู่  เหยี่ยวได้โฉบจับเอามันไป  เมื่อถูกเหยี่ยวจับได้  มันก็เสียใจ  จึงคร่ำครวญว่า เราเคราะห์ร้ายมาก  มีบุญน้อย  เราถูกเหยี่ยวจับได้  ก็เพราะว่าเที่ยวไปในถิ่นอื่น อันเป็นที่อโคจร   ถ้าอยู่ในถิ่นของตน ก็ยังสามารถที่จะต่อสู้กับเหยี่ยวได้  เหยี่ยวได้ฟังดังนั้น  จึงถามถึงถิ่นของนกมูลไถว่าอยู่ที่ใด  นกมูลไถตอบว่า  อยู่ที่ก้อนดินคันไถ  เหยี่ยวหยิ่งและอวดว่าตนมีกำลังมาก  จึงได้ปล่อยนกมูลไถไป  โดยพูดว่า "ไปเถิดเจ้านกมูลไถ  แม้เจ้าจะอยู่ที่ใดก็คงไม่พ้นเราดอก"   เมื่อนกมูลไถเป็นอิสระ ก็รีบบินไปยังที่ที่มีดินก้อนใหญ่   แล้วขึ้นไปยืนท้าเหยี่ยว  "แน่ะเหยี่ยว  จงมาจับเราเดี๋ยวนี้เถิด"  นกมูลไถท้าทายเหยี่ยว พูดซ้ำ ๆ  เรียกให้มาจับตน  ครั้นเหยี่ยวเมื่อเห็นนกมูลไถท้า ก็อวดกำลังของตน  จึงได้ลู่ปีกทั้ง ๒ โฉบนกมูลไถโดยเร็ว  ครั้นนกมูลไถรู้ว่าเหยี่ยวโฉบลงมาด้วยกำลังแรง  จึงรีบหลบเข้าซอกดินโดยเร็ว  เหยี่ยวไม่อาจยั้งความเร็วของตนได้  อกกระแทบกับก้อนดินอย่างแรง  เหยี่ยวอกแตกตาถลนตายทันที  ณ ที่นั้นเอง

นี้คือ เรื่องนกมูลไถเที่ยวไปในถิ่นอื่น ซึ่่งไม่ใช่ถิ่นหากินของตน  ย่อมประสบกับภยันตรายได้เช่นนี้

เพราะฉะนั้น  ภิกษุทั้งหลาย  จึงไม่ควรเที่ยวไปในอารมณ์ อันมิใช่โคจร (ไม่ควรเที่ยวไป)  คือ กามคุณ ๕  ซึ่งได้แก่  รูปที่สามารถรู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก  ชวนให้เกิดความกำหนัด...เสียงที่สามารถรู้ได้ด้วยโสต...กลิ่นที่สามารถรู้ได้ด้วยฆานะ.... รสที่สามารถรู้ได้ด้วยชิวหา.... โผฏฐัพพะที่สามารถรู้ได้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชวนให้เกิดความใคร่  ชวนให้เกิดความกำหนัด  เหล่านี้คืออารมณ์ที่มิใช่อารมณ์โคจรของภิกษุ  เพราะว่า เมื่อเที่ยวไปในอารมณ์เหล่านี้  มาร คือ กิเลส  ย่อมได้โอกาสที่จะครอบงำและทำอันตรายต่าง ๆ ได้  เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต

ส่วนอารมณ์อันเป็นโคจร  เป็นอารมณ์ที่ควรเที่ยวไป  คือ สติปัฏฐาน ๔ ... สติปัฏฐาน  คือ ระลึกรู้กาย  ระลึกรู้เวทนา  ระลึกรู้จิต  ระลึกรู้ธรรม......เพียรระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้  ตามความเป็นจริง  ระลึกอยู่เนื่อง ๆ บ่อย ๆ  จนเกิดปัญญาสามารถกำจัดความยินดี  พอใจ  ความกำหนัดและความไม่พอใจ  ความขัดข้อง  ขุ่นเคืองใจ  ในโลกเสียได้ (โลก...ในที่นี้หมายถึง  ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ)   นี้คือ อารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน  (บิดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) อันเป็นทางเที่ยวไป (โคจร)
เพราะเหตุว่า เมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔   มาร คือ กิเลส ย่อมครอบงำจิตไม่ได้

                                         
                                                         
                                                            ขออุทิศกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                             ........................................