|
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น |
ข้อความในสังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปังกธาสูตร ข้อ ๕๓๑ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจากจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมแห่งชาวโกศลชื่อปังกธา ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุชื่อ กัสสปโคตร เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ณ ปังกธานิคม ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตต์ด้วยสิกขาบท
ครั้งนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาปฏิสังยุตต์ด้วยสิกขาบทอยู่ ภิกษุกัสสปโคตรได้เกิดความขัดใจ ไม่แช่มชื่นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปังกธานิคมตามควรแก่พระอภิรมณ์แล้ว เสด็จจาริกกลับไปทางพระนครราชคฤห์ เมื่อเสด็จจากไปโดยลำดับ ได้เสด็จยังพระนครราชคฤห์ เมื่อเสด็จจาริกถึงพระนครราชคฤห์แล้ว ประทับอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์
ครั้งนั้นแล ภิกษุกัสสปโคตร เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปได้ไม่นาน ได้เกิดความรำคาญ เดือดร้อนว่าเราผู้เกิดความขัดใจ ไม่แช่มชื่นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก ในเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมิกถาอันปฏิสังยุตต์ด้วยสิกขา ชื่อว่าเป็นอันหมดลาภ ไม่มีลาภ ไม่ได้ดีแล้วหนอ ถ้ากระไร เราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ แล้วพึงแสดงโทษโดยความเป็นโทษในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด
ลำดับนั้นแล ภิกษุกัสสปโคตรเก็บงำเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร หลีกไปทางพระนครราชคฤห์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ แล้วกราบทูลขอโทษพระผู้มีพระภาคได้โปรดทรงรับโทษของท่าน โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมระวังต่อไปเถิด
นี่ก็เป็นความวิจิตรของจิตจริง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า การคิดนึกของแต่ละคนบังคับบัญชาไม่ได้เลย ถ้าสะสมอกุศลที่จะคิดในทางอกุศล ก็ย่อมคิดในเรื่องอกุศลต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้ ผ่านจากสมัยของพระผู้มีพระภาคมาเป็นเวลาถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี อกุศลที่สะสมไว้้ก็เพิ่มขึ้น ถ้ายังไม่ได้ขัดเกลาด้วยการฟังพระธรรม และน้อมประพฤติปฏิบัติตามทุกประการ ก็ย่อมจะมีเหตุที่จะให้เกิดกุกกุจจะ (ความขัดเคืองใจ) ได้บ่อย ๆ เนือง ๆ เพราะฉะนั้น จึงควรที่จะได้พิจารณาว่า กุกกุจจะของแต่ละท่านที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพราะอะไร อีกประการหนึ่งก็คือ
โทสะและกุกกุจจะเกิดจากความไม่รู้ ความไม่เข้าใจ ซึ่งรวมถึงความไม่รู้ และความไม่เข้าใจบุคคลและเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วย
ทุกคนมีเหตุผล แต่ถ้าไม่พิจารณาถึงเหตุผลของคนอื่น เอาแต่ตัวเองเป็นเครื่องวัด ก็ย่อมจะเกิดความคิดว่า ทำไมคนนั้นไม่ทำอย่างนี้ ทำไมคนนี้ไม่ทำอย่างนั้น หรือว่าควรจะทำอย่างนี้ ไม่ควรทำอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก้ทำให้เกิดกุกกุจจะได้ ถ้าเป็นผู้ที่พยายามเข้าใจคนอื่น แล้วก็มีความเห็นใจและให้อภัยผู้อื่น จะเป็นผู้ที่มีความอดทนที่จะไม่แสดงกาย วาจา ให้คนอื่นเดือดร้อน ขณะใดที่แสดงกาย วาจา กระทบกระเทือนให้คนอื่นเดือดร้อน ตนเองย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
ที่มาของบทความ.....คัดลอกจากบ้านธัมมะ
ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน
...............................................