Translate

วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เหตุให้เกิดความเห็นผิด



 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ทุกคนมีชีวิตปรกติในวันหนึ่ง ๆ  ตรึกไปในกามวิตก  พยาบาทวิตก  วิหิงสาวิตก  ถ้าไม่เป็นผู้พิจารณาธรรมตรง คือ กุศลเป็นกุศล  อกุศลเป็นอกุศล ก็จะโน้มเอียงไปในทางเห็นผิดได้  ความเห็นผิดในชีวิตประจำวัน  ตัวอย่าง เช่น  เมื่อเห็นผู้อื่นได้รับผลของอกุศลกรรม  แล้วเกิดความความพอใจ หรือกล่าวคำว่า "สมน้ำหน้า"  ขณะนั้นให้ทราบว่าจิตเป็นอย่างไร  เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล  ถ้าไม่พิจารณาในเหตุในผล  หมายถึงเหตุผลที่ควรจะพิจารณาก็คือว่า  ควรไหมที่จะสมน้ำหน้า หรือควรไหมที่จะเมตตา  เพียงแค่นี้ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความเห็นผิดหรือความเห็นถูกที่จะโน้มเอียงไป

การที่จะโน้มเอียงไปในทางเห็นผิดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับจิตของผู้พูดขณะนั้นว่า  เขาพูดด้วยกำลังของโทสะ หรือว่าพูดด้วยกำลังของโลภะ (ความพอใจ) ที่ผู้อื่นได้รับโทษจากอกุศลกรรมของเขา  หรือว่าเขามีความเห็นที่โน้มเอียงไปว่า สมควรที่ทุกคนจะเป็นอย่างนั้น ที่จะกล่าวโทษ สมน้ำหน้า หรือรังเกียจ ไม่เป็นมิตร

นี่ก็เป็นตัวอย่างในชีวิตประจำวันที่ควรพิจารณา  ซึ่งจะเป็นทางที่จะรู้ได้ว่าภายหน้าต่อไป  เราจะเป็นผู้มีความเห็นผิดหรือมีความเห็นถูก  ถ้าไม่เข้าใจเหตุผลจริง ๆ  ก็จะโน้มเอียงไปในทางมิฉาทิฏฐิสักวันหนึ่งได้  การที่ผู้ใดผู้หนึ่งได้กระทำผิดแล้วได้รับผลของกรรมนั้น  ควรที่เราจะสมน้ำหน้าเขาหรือว่าควรจะมีความเมตตากรุณา  ถ้าเราไม่เป็นผู้พิจารณาธรรมให้ตรงตามเหตุและผลจริง ๆ  ก็จะเป็นผู้มีความเห็นผิดได้แน่นอน


                                                    ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน

                                                       ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

๕ ธันวามหาราช

 ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า
สมาคมไทย-กวนอิม, สวิตเซอร์แลนด์

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------




                                     มีกรรมเป็นปัจจัย

 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ท่านเคยพิจารณาบ้างมั้ยว่า  ตั้งแต่ศีรษะจรดถึงเท้านี้มีมาได้อย่างไร มาจากไหน  มีอะไรเป็นสภาพธรรมที่ทำให้เกิดรูปวัตถุร่างกายตั้งแต่ศีรษะจนถึงเท้า  แต่ถ้าผู้พิจารณาก็จะรู้ได้จริง ๆ ว่า "กรรมเป็นปัจจัย"  ไม่มัใครเอา ดิน น้ำ ไฟ ลม มาทำเป็นรูปร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าได้  แต่กรรมที่ทุก ๆ คนมองไม่เห็นและก็ไม่รู้ว่าเป็นกรรมอะไร แต่ว่ากรรมนั้นได้กระทำแล้ว จึงเป็นปัจจัยให้รูปนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า  แม้ว่ารูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเมื่อวานนี้ก็ได้ดับหมดไปแล้ว  และรูปขณะเมื่อกี้นี้ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็ดับไปโดยไม่มีใครรู้  แต่ว่าอะไรทำให้รู้สึกว่า เมื่อกระทบสัมผัสตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็ยังมีอยู่ เพราะเหตุว่ายังมีกรรมเป็นปัจจัย ทำให้รูปนี้เกิดแล้วก็ดับ ๆ จะปรากฏเมื่อมีการกระทบสัมผัสเท่านั้นเอง
ขณะใดที่ไม่กระทบสัมผัส แม้รูปนั้นมีก็เหมือนไม่มี โดยสมุฐานต่าง ๆ โดยกรรมบ้าง โดยจิตบ้าง โดยอุตุบ้าง  โดยอาหารบ้าง

นี่คือสิ่งที่ไม่รู้ตามเหตุตามปัจจัยในชาติหนึ่ง ๆ  คือไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย  แต่ก็ไปยึดครองว่าเป็นเรา โดยไม่ได้มีการสอบสวนเลยว่า  ที่ว่าเป็นเรานั้นมาจากไหน อะไรเป็นปัจจัยแม้กระทั้งรูปแม้แต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งการเห็น การได้ยิน
ซึ่งจะต้องมีอยู่ตลอดชีวิต ใครที่มีชีวิตแล้วจะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส  ไม่รู้กระทบสัมผัส ไม่รู้ความคิดนึกนั้น เป็นไปไม่ได้เลย  เพราะฉะนั้นควรที่จะได้ใคร่ควรว่า  แม้แต่เห็น  แม้ได้ยินนั้น มีปัจจัยอย่างไร  เพราะเหตุว่าจะต้องอาศัยจักขุปสาท  ซึ่งกรรมอีกนั้นแหละที่เป็นสมทฐานก่อตั้งให้จักขุปสาทเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

 เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมก็จะไม่เห็นกรรมและก็ไม่รู้ว่า มีชีวิตเกิดมาในโลกนี้ได้อย่างไร และอยู่ในโลกนี้แต่ละขณะได้อย่างไร  แต่ถ้าพิจารณาโดยเรื่องของกรรม แล้วก็จะเห็นได้ว่า ทุกคนล้วนมีกรรมเป็นของ ๆ ตน  ทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ทุกขณะที่มีชีวิตอยู่ จากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่งทุกภพทุกชาติ  เพราะฉะนั้นถ้ารู้อย่างนี้จริง ๆ  อุเบกขาพรหมวิหารก็จะเพิ่มขึ้น คือไม่มีความหวั่นไหวในสุขในทุกข์  ไม่มีความเดือดร้อนในอกุศลใด ๆ ทั้งสิ้น


                                                     ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน

                                                        ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ถอนตะปูตรึงใจ



                                                      ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เมื่อใดที่ยังมีความสงสัยและมีความหยาบกระด้างหรือขุ่นมัว  ไม่สามารถที่จะเข้าใจพระธรรมได้ ขณะนั้นก็เหมือนกับมีตะปูตรึงใจ  เมื่อได้ฟังพระธรรมก็มีความสงสัย ๆ  บ่อย ๆ ไม่พิจารณาอะไร ถ้าเป็นความสงสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เท่ากับว่ามีตะปูเล็ก ๆ  ตรึงใจ  ทำให้ขณะนั้นไม่สามารถเข้าใจธรรม  แต่ถ้ามีโอกาสได้ฟังได้พิจารณาธรรมมากขึ้น  ถึงแม้ว่าจะมีตะปูเล็ก ๆ ตรึงใจอยู่  ก็สามารถที่จะถอนหรือคลายได้  แต่ก็ต้องเป็นความเห็นถูกคือปัญญาเท่านั้น จึงจะสามารถที่จะละคลายได้

เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าขณะใดมีธรรมที่หยาบกระด้างเปรียบเหมือนตะปูที่แข็ง  เกิดขึ้นแล้วก็ตรึงใจ  ทำให้ขณะนั้นไม่สามารถไปสู่ความเห็นถูกความเข้าใจถูกได้  หรือไม่สามารถออกจากความสงสัยได้  แต่ก็ยังมีธรรมที่สามารถที่จะคลายความสงสัย คือ ปัญญา  ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ไม่ได้สะสมความสงสัยและไม่ยอมที่จะศึกษาธรรมเลย  ขอแต่เพียงยังคงเก็บความสงสัยเรื่องโน้นเรื่องนี้ โดยไม่ฟังเหตุผลหรือไม่พิจารณาว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นธรรมยากที่จะรู้และหลากหลาย แต่ก็จะรู้ได้ด้วยปัญญาที่อบรมเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นหนทางเดียว ที่ยังสงสัยก็เพราะเหตุว่ายังไม่ได้อบรมปัญญาให้เจริญเพิ่มขึ้น ถ้าได้อบรมปัญญาเพิ่มขึ้น ความสงสัยก็จะลดน้อยลง ตะปูที่ตรึงใจก็จะค่อย ๆ ถอนออกได้

เพราะฉะนั้นความสงสัยในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม  ในพระสงฆ์  จากการศึกษา คือ รู้ว่าการที่ได้ฟังพระธรรมบ่อย ๆ  จะสามารถทำให้เข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟัง  เพราะว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังบ่อย ๆ ก็เป็นเรื่องของธรรม เมื่อเข้าใจแล้วก็จะทำให้รู้หนทางที่จะทำให้หมดความสงสัย หมดตะปูตรึงใจได้  มิฉะนั้นจากความเป็นปุถุชนก็จะไปสู่พระอริยบุคคลไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่าธรรมเหล่านี้ แม้ว่าขณะที่เกิดเป็นตะปูตรึงใจ  แต่ถ้ามีปัญญาเมื่อไร  ก็จะค่อย ๆ  ถอนสิ่งที่เป็นตะปูตรึงใจได้  เพราะฉะนั้นทุกคนย่อมรู้ตนเองดี ว่ามีความสงสัยมากน้อยแค่ไหน หรือว่าตะปูตรึงใจได้คลายลงมากน้อยแค่ไหน

แต่ละท่านก็ศึกษาและฟังธรรมเพื่อความเข้าใจขึ้น  แต่ว่าเวลามีความหยาบกระด้างหรือโทสะเกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่ามีตะปูตรึงใจ  บางท่านฟังธรรมเข้าใจ  แต่ก็ยังเก็บความโกรธ  ยังจะผูกโกรธอีกต่อไป ตราบใดที่ยังไม่สามาถถอนตะปูออก  ก็เพราะเหตุว่า ยังไม่มีกำลังของปัญญาพอที่จะคลายหรือพอที่จะเห็นโทษของโทสะ  เพราะฉะนั้น  ต้องฟังธรรมสะสมปัญญาจนกว่าจะสามารถถอนตะปูตรึงใจได้


                                                    ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน
                                           
                                                          ขออุทิศส่วนกุศลแก่สรรพสัตว์


วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สมาธิสูตร



                                                   
 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
                                     
                                         พระสุตตันตปิฎก  สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓

                                                          ว่าด้วยสมาธิเป็นเหตุเกิดปัญญา

                    (๒๗)  ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
                    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว  พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ  ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง  ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร  ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป  ความเกิดและความดับแห่งเวทนา  ความเกิดและความดับแห่งสัญญา  ความเกิดและความดับแห่งสังขาร  ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ

                 (๒๘)  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็อะไรเป็นความเกิดแห่งรูป  อะไรเป็นความเกิดแห่งเวทนา  อะไรเป็นความเกิดแห่งสัญญา  อะไรเป็นความเกิดแห่งสังขาร   อะไรเป็นความเกิดแห่งวิญญาณ  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลในโลกนี้  ย่อมเพลิดเพลิน  ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่  ก็บุคคลย่อมเพลิดเพลิน  ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งอะไร   ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป  เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป  ความยินดีก็เกิดขึ้น  ความยินดีในรูป  นั้นเป็นอุปาทาน  เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย  จึงมีภพ  เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ  เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส  ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้น  ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้  บุคคลย่อมเพลิดเพลินซึ่งเวทนา ฯลฯ  ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสัญญา ฯลฯ  ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสังขาร ฯลฯ ย่อมเพลิดเพลิน  ย่อมพร่ำถึง  ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ  เมื่อเพลิดเพลิน  พร่ำถึง  ดื่มด่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ  ความยินดีย่อมเกิดขึ้น  ความยินดีในวิญญาณ  นั่นเป็นอุปาทาน  เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย นั่นเป็นอุปาทาน  เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ  เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ  เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทว ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส  ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้  ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  นี่เป็นความเกิดแห่งรูป  นี่เป็นความเกิดแห่งเวทนา  นี่เป็นความเกิดแห่งสัญญา  นี่เป็นความเกิดแห่งสังขาร  นี่เป็นความเกิดแห่งวิญญาณ

               (๒๙)  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็อะไรเป็นความดับแห่งรูป  อะไรเป็นความดับแห่งเวทนา  อะไรเป็นความดับแห่งสัญญา  อะไรเป็นความดับแห่งสังขาร  อะไรเป็นความดับแห่งวิญญาณ   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในธรรมวินัยนี้  ย่อมไม่เพลิดเพลิน  ย่อมไม่พร่ำถึง  ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่  ก็ภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน  ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป  เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป  ความยินดีในรูปย่อมดับไป  เพราะความยินดีของภิกษุนั้นดับไป  อุปาทานจึงดับ  เพราะอุปาทานดับ  ภพจึงดับ ฯลฯ  ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้  ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้  ภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำซึ่งเวทนา...   ซึ่งสัญญา...   ซึ่งสังขาร...   ซึ่งวิญญาณ   เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง  ไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งเวทนา...   ซึ่งสัญญา...   ซึ่งสังขาร...   ซึ่งวิญญาณ  ความยินดีในเวทนา...   ในสัญญา...    ในสังขาร...   ในวิญญาณ  ย่อมดับไป  เพราะความยินดีของภิกษุนั้นดับไป  อุปาทานจึงดับ  เพราะอุปาทานดับ  ภพจึงดับ ฯลฯ   ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้  ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  นี้เป็นความดับแห่งรูป  นี้เป็นความดับแห่งเวทนา  นี้เป็นความดับแห่งสัญญา  นี้เป็นความดับแห่งสังขาร  นี้เป็นความดับแห่งวิญญาณ

                                                       
                                                                    จบ  สมาธิสูตรที่ ๕

                                                      ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน

                                                        ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์





วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ลาภอันประเสริฐ



 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ทุกคนปรารถนาที่จะได้ลาภต่าง ๆ  คือ  ลาภทางตา ได้เห็นสิ่งที่สวยงาม สิ่งที่น่าพอใจ.... ทางหู ได้ยินเสียงที่ไพเราะ.....ทางจมูก ได้กลิ่นที่ดี......ทางลิ้น ได้ลิ้มรสที่อร่อย...... ทางกาย ได้กระทบสัมผัสที่สบายกาย ไม่มีทุกข์  มีแต่ความสุข  นอกจากนั้นชาวโลกยังปรารถนา "ยศ"  แต่ว่ายศจริง ๆ นั้นต้องหมายถึง "ความดี"  ถ้าไม่ใช่ความดีก็ไม่ใช่ยศที่แท้จริง ความไม่ดีเป็นเกียรติยศไม่ได้  การมียศมีตำแหน่งการงานซึ่งชาวโลกเข้าใจว่าเป็นเกียรติยศนั้น  ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติดีก็ไม่ใช่ยศที่แท้จริง  เพราะยศหรือเกียรติยศหมายถึง ความดี

ลาภอื่นทางโลกไม่ใช่ลาภอันประเสริฐ  เพราะเป็นลาภที่ประกอบด้วยโลภะ ความติดข้อง ต้องการ  ยินดีพอใจ  การที่จะได้ลาภอันประเสริฐนั้น  ก็คือขณะใดที่มีความเข้าใจพระธรรม  มีความเห็นถูก  ขณะนั้นเป็นลาภอันประเสริฐ  เพราะฉะนั้น ท่านมีลาภอันประเสริฐแค่ไหน  ท่านฟังธรรมศึกษาธรรมเพื่อลาภอันประเสริฐหรือยัง ?

ฟังธรรมและศึกษาธรรมด้วยความศรัทธา เพื่อความเข้าใจ  ก็จะได้ลาภอันประเสริฐ  การศึกษาพระธรรมก็เพื่อที่จะได้รู้จักชีวิตว่า  เกิดมาเพื่ออะไร  ไม่ใช่เกิดมาเพื่อกิน นอน ติดข้อง นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน  แต่ที่จะได้รู้ความจริงว่า เกิดมาเพื่ออะไร  เพื่อให้รู้ความจริงของชีวิต  เพื่อความหลุดพ้นจากความทุกข์  เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย

 เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีความเข้าใจว่า ศึกษาธรรมฟังธรรมเพื่ออะไร ?   ก็เพื่อรู้ตามความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  เพื่อความเห็นถูกต้อง ไม่ใช่เพื่อลาภอย่างอื่น แต่เพื่อลาภอันประเสริฐ  แต่จะรู้ได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่ที่การสะสมมาและมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน

ความเห็นถูกและความเข้าใจถูกเท่านั้น เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต  ถ้ายังไม่เข้าใจพระธรรมจะเรียกว่ามีลาภอันประเสริฐได้ไหม ?  ก็ยังไม่เรียกว่า "ลาภอันประเสริฐ"  เพราะฉะนั้น ฟังและศึกษาจนกว่าจะเข้าใจทีละน้อย  ฟังและเห็นประโยชน์ของการฟังเมื่อไร  เมื่อนั้นก็จะรู้ความหมายของคำว่า "ลาภอันประเสริฐ" ซึ่งเป็นลาภที่เหนือลาภใด ๆ ทั้งปวง

                                             
                                                  ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                     ..........................................

วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทางเดินของผู้รู้



 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ทางเดินด้วยความไม่รู้  ก็ต่างกันกับทางเดินของผู้รู้ผู้เข้าใจสภาพธรรม  เพราะฉะนั้นผู้ไม่รู้ก็จมอยู่ในความมืด ก็ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง  หรือมีสุขมีทุกข์ประการใด  แล้วก็ไม่สามารถที่จะเห็นทางที่นำไปสู่ความปลอดภัย คือทางที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง  ขณะนี้ผู้ไม่รู้ก็คือผู้ไม่ฟังพระธรรม  ผู้ที่ฟังพระธรรมเริ่มเข้าใจพระธรรม ก็เป็นผู้ที่รู้พระธรรม  เมื่อมีความเข้าใจถูกเห็นถูกว่า จากความไม่รู้อะไรทั้งสิ้นเหมือนคนตาบอดอยู่ในความมืดสนิท แล้วก็เริ่มมีทางที่มีแสงสว่าง  ถึงแม้ว่าจะเป็นทางที่มีแสงสว่างรำไร ไปจนกระทั่งถึงทางที่มีแสงสว่าง ที่จะนำไปสู่ความรู้ตามความเป็นจริงหรือไม่  ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน ที่เกิดมาแล้วจะไม่ไปทางกุศลและทางอกุศลนั้นย่อมไม่มี  เพราะเหตุว่ามีการสะสมมาทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล

แต่แม้กุศลและอกุศลซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญาที่เข้าใจธรรม ก็ให้ผลเพียงชั่วคราว  แต่ก็ไม่สามารถที่จะ
นำไปสู่ทางที่สามารถดับกิเลสจริง ๆ  เพราะไม่รู้ว่าขณะไหนเป็นกิเลส  ขณะไหนเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา  ด้วยเหตุนี้ในบรรดาธรรมทั้งปวง ที่เป็นสังขารธรรมและสังขตธรรม ซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น แล้วดับไป  ปัญญาประเสริฐสุดสามารถรู้ตามความเป็นจริง  เพราะว่าเป็นความเห็นถูกเข้าใจถูก

เมื่อทุกคนเห็นคุณค่าของพระธรรม จะไปทางไหน ก็เป็นการสะสมที่แต่ละคนเห็นประโยชน์ว่า ควรจะไปทางที่ทำให้เห็นถูก ทำให้เข้าใจถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ  แต่เป็นเรื่องละเอียดมาก ต้องไตร่ตรองต้องเป็นผู้ตรง จึงจะเห็นว่าการศึกษาพระธรรม การฟังพระธรรมเป็นเรื่องละทั้งหมด  ละทุกสิ่งทุกอย่างแม้กุศล  ความติดข้องในกุศลก็ยังเป็นอกุศลที่ติดข้อง  เพราะเหตุนี้สิ่งใดก็ตาม ที่ไม่ทำให้ละ แต่ติดข้อง นั่นไม่ใช่คำสั่งสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพราะว่าอริยสัจธรรมที่สอง คือ สมุทยอริยสัจจะ คือละความติดข้อง เพราะไม่รู้ทุกขสัจจ์ซึ่งเป็นอริยสัจจ์ที่ ๑   ไม่รู้ว่าเกิดขึ้น ไม่รู้ว่าดับไปและไม่รู้เลย

  ดังนั้น   ถ้าสามารถเข้าใจความจริงมั่นคง  ก็จะสามารถละคลายความติดข้อง จนกระทั่งประจักษ์แจ้งธาตุ  และต้องเป็นความเข้าใจความจริงขณะนี้ว่ากำลังมีสภาพธรรมเกิดแล้วดับ ก็จะค่อย ๆ  ละคลายความติดข้อง จนกระทั่งประจักษ์แจ้งธาตุที่ไม่เกิดไม่ดับ  ซึ่งทุกคนก็เคยได้ยินนิพพานธาตุ  แต่ยังไม่มีความเข้าใจในธาตุนั้น  เพราะว่าสภาพธรรมนั้นจะไม่ปรากฏกับอวิชชา หรือว่ากุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา   ก็เป็นทางเลือกที่จะแสดงให้เห็นว่า  ต้องมีปัญญาจริง ๆ  ในแต่ละภพแต่ละชาติ จึงจะเลือกทางเดินได้ถูกต้องและศึกษาเพื่อให้เข้าใจ  ธรรมะคือสิ่งที่มีจริง  ประพฤติปฏิบัติขัดเกลาเพื่อละคลายกิเลสที่มีมากมายมหาศาล ไม่สามารถที่จะมีสิ่งอื่นใด  แต่สามารถที่จะค่อย ๆ ละ ค่อย ๆ ขัดเกลาได้   เมื่อได้เห็นคุณค่าของปัญญา ก็ค่อย ๆ  อบรมปัญญาขัดเกลากิเลส จนกว่ากิเลสจะหมดสิ้น

                               

                                                    ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ที่สุดของความจริง


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ท่านทราบมั้ยว่า ที่สุดของความจริงคืออะไร

ที่สุดของความจริง  ก็คือสภาพธรรมที่มีจริง ได้แก่  จิต เจตสิก รูป นิพพาน  หรือเรียกสั้น ๆ เป็นภาษาบาลีว่า "ปรมัตถธรรม" 

จิต  เป็นสภาพที่มีจริง เป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้  เป็นธาตุหรือเป็นสภาพธรรมที่มีจริง  มีลักษณะเฉพาะอย่าง ไม่เป็นอย่างอื่น เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย  แล้วก็ดับไปไม่เหลือเลย  ไม่มีสิ่งใดที่เกิดโดยปราศจากเหตุปัจจัย และไม่มีสิ่งใดที่เกิดแล้วจะไม่มีการดับ...... จิต หมายถึงธาตุรู้ ๆ  ทุกอย่างตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย......จิต  เป็นธาตุรู้ ๆ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖  ถ้าไม่ได้ยินเสียง  หรือถ้าไม่มีสภาพรู้เสียง  เสียงนั้นยก็จะปรากฏไม่ได้เลย


เจตสิก เป็นธาตุรู้  เป็นนามธรรม เป็นธาตุที่มีจริง เกิดพร้อมกับจิตและดับพร้อมกับจิต  เจตสิกเกิดร่วมกับจิตแต่ละขณะอย่างน้อย ๗ ประเภท  เจตสิกรู้อารมณ์เดียวกับจิต เจตสิกเกิดขึ้นทำกิจแตกต่างกัน

รูป  เป็นธาตุที่ไม่รู้อะไร  เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่รู้อะไร  เช่น  เย็น ร้อน อ่อน แข็ง  ไหว ตึง ก็เป็นธาตุเฉพาะอย่าง

ธาตุมีมากมายหลากหลาย แต่เราจะไม่ได้คิดถึงชื่อ  เราคิดถึงความจริงที่สุด ซึ่งหมายถึงสิ่งที่มีจริงที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ  สิ่งที่มีจริง ๆ  เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปหมดไม่เหลือและไม่กลับมาอีกเลย  ขณะนี้ก็มีธาตุเกิดดับอย่างหลากหลาย  แต่สติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้  ก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิด  เห็นว่าธาตุเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมากนั้น ว่าเป็นของเที่ยงยั่งยืน แล้วก็จดจำนิมิตของจิต  จดจำรูปร่างสัณฐานนิมิตของจิต


เพราะฉะนั้น ตามความจริงที่ถึงที่สุดของความจริงก็คือ  จิต เป็นธาตุรู้  ซึ่งสามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้  เช่น ขณะนี้กำลังมีเหตุ  กำลังได้ยิน  กำลังได้กลิ่น  กำลังลิ้มรส กำลังกระทบสัมผัส  กำลังคิดนึก  ซึ่งเป็นความจริงที่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย  เป็น "นิยาม" คือ เป็นความจริงที่จะต้องเป็นเช่นนั้น   จิต ๑ ขณะเกิดขึ้นแล้วต้องดับไปเป็นปัจจัยให้จิตดวงอื่นหรือขณะต่อไปเกิดขึ้น  และจิตเกิดขึ้นทุกขณะต้องมีสิ่ง (อารมณ์) ให้จิตรู้


                                                        ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มงคลกิริยา





มงคลกิริยา  หมายถึง  การแสดงกิริยาต่าง ๆ  เช่น  การรคำนับ  การไหว้  การต้อนรับ  การแสดงมารยาทที่สมควรต่อผู้อื่น บางท่านอาจจะคิดว่า  การแสดงมงคลกิริยาและการแสดงมารยาท ไม่มีผล  แต่ถ้าพิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่า  การแสดงกิริยาต่าง ๆ ทางกายและทางวาจานั้น มีทั้งที่เป็นกุศลและที่เป็นอกุศล

การแสดงการต้อนรับ การคำนับใคร หรือการแสดงมารยาทอันดีงามต่าง ๆ ก็ตาม  ถ้าแสดงด้วยใจจริง จิตขณะนั้นเป็นกุศลจิต  แต่ถ้าการแสดงการต้อนรับหรือคำนับด้วยความไม่จริงใจ หรือไม่แสดงการต้อนรับ หรือไม่มีมงคลกิริยา  ในขณะนั้นก็จะส่องไปถึงสภาพจิตขณะนั้นว่า เป็นลักษณะจิตที่หยาบกระด้าง ขาดความเมตตา เป็นอกุศลจิตในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นมงคลกิริยา คือ การต้อนรับ การคำนับ หรือการไหว้ของบุคคลทั้งหลายในชีวิตประจำวันในสังคมซึ่งมีการแสดงต่อกัน  ก็รู้ว่ามงคลกิริยาทั้งหลายเหล่านั้นมี  และเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลด้วย
เพราะเหตุว่า กุศลจิตและอกุศลจิตเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล  โดยเฉพาะขึ้นอยู่ที่เจตนา (ความตั้งใจ) ที่เป็นกุศลหรือที่เป็นอกุศล  ถ้าเป็นความตั้งใจที่เป็นอกุศล ก็เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดอกุศลวิบาก  ในทางตรงข้าม ถ้าเป็นความตั้งใจที่เป็นกุศล  ก็เป็นกรรมที่จะทำให้เกิดกุศลวิบาก


                                                        ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                               
                                                                 ...................................

วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

อารมณ์โคจร

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

                                                                 สรุปโดยย่อ
                                           
                                              สกุณัคฆีสูตร  (ว่าด้วยอารมณ์โคจร)

จาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ หน้า ๓๘๖

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม แก่ภิกษุทั้งหลาย  โดยยกเรื่องที่เคยเกิดในอดีต ว่า นกมูลไถได้ถูกเหยี่ยวจับไป  เพราะเที่ยวไปในถิ่นของผู้อื่น  อันไม่ใช่ถิ่นหากินของตน ด้วยคิดว่า  จักลองหาอาหารในถิ่นอื่นบ้าง  ขณะที่นกมูลไถกำลังหาอาหารอยู่  เหยี่ยวได้โฉบจับเอามันไป  เมื่อถูกเหยี่ยวจับได้  มันก็เสียใจ  จึงคร่ำครวญว่า เราเคราะห์ร้ายมาก  มีบุญน้อย  เราถูกเหยี่ยวจับได้  ก็เพราะว่าเที่ยวไปในถิ่นอื่น อันเป็นที่อโคจร   ถ้าอยู่ในถิ่นของตน ก็ยังสามารถที่จะต่อสู้กับเหยี่ยวได้  เหยี่ยวได้ฟังดังนั้น  จึงถามถึงถิ่นของนกมูลไถว่าอยู่ที่ใด  นกมูลไถตอบว่า  อยู่ที่ก้อนดินคันไถ  เหยี่ยวหยิ่งและอวดว่าตนมีกำลังมาก  จึงได้ปล่อยนกมูลไถไป  โดยพูดว่า "ไปเถิดเจ้านกมูลไถ  แม้เจ้าจะอยู่ที่ใดก็คงไม่พ้นเราดอก"   เมื่อนกมูลไถเป็นอิสระ ก็รีบบินไปยังที่ที่มีดินก้อนใหญ่   แล้วขึ้นไปยืนท้าเหยี่ยว  "แน่ะเหยี่ยว  จงมาจับเราเดี๋ยวนี้เถิด"  นกมูลไถท้าทายเหยี่ยว พูดซ้ำ ๆ  เรียกให้มาจับตน  ครั้นเหยี่ยวเมื่อเห็นนกมูลไถท้า ก็อวดกำลังของตน  จึงได้ลู่ปีกทั้ง ๒ โฉบนกมูลไถโดยเร็ว  ครั้นนกมูลไถรู้ว่าเหยี่ยวโฉบลงมาด้วยกำลังแรง  จึงรีบหลบเข้าซอกดินโดยเร็ว  เหยี่ยวไม่อาจยั้งความเร็วของตนได้  อกกระแทบกับก้อนดินอย่างแรง  เหยี่ยวอกแตกตาถลนตายทันที  ณ ที่นั้นเอง

นี้คือ เรื่องนกมูลไถเที่ยวไปในถิ่นอื่น ซึ่่งไม่ใช่ถิ่นหากินของตน  ย่อมประสบกับภยันตรายได้เช่นนี้

เพราะฉะนั้น  ภิกษุทั้งหลาย  จึงไม่ควรเที่ยวไปในอารมณ์ อันมิใช่โคจร (ไม่ควรเที่ยวไป)  คือ กามคุณ ๕  ซึ่งได้แก่  รูปที่สามารถรู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก  ชวนให้เกิดความกำหนัด...เสียงที่สามารถรู้ได้ด้วยโสต...กลิ่นที่สามารถรู้ได้ด้วยฆานะ.... รสที่สามารถรู้ได้ด้วยชิวหา.... โผฏฐัพพะที่สามารถรู้ได้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชวนให้เกิดความใคร่  ชวนให้เกิดความกำหนัด  เหล่านี้คืออารมณ์ที่มิใช่อารมณ์โคจรของภิกษุ  เพราะว่า เมื่อเที่ยวไปในอารมณ์เหล่านี้  มาร คือ กิเลส  ย่อมได้โอกาสที่จะครอบงำและทำอันตรายต่าง ๆ ได้  เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต

ส่วนอารมณ์อันเป็นโคจร  เป็นอารมณ์ที่ควรเที่ยวไป  คือ สติปัฏฐาน ๔ ... สติปัฏฐาน  คือ ระลึกรู้กาย  ระลึกรู้เวทนา  ระลึกรู้จิต  ระลึกรู้ธรรม......เพียรระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้  ตามความเป็นจริง  ระลึกอยู่เนื่อง ๆ บ่อย ๆ  จนเกิดปัญญาสามารถกำจัดความยินดี  พอใจ  ความกำหนัดและความไม่พอใจ  ความขัดข้อง  ขุ่นเคืองใจ  ในโลกเสียได้ (โลก...ในที่นี้หมายถึง  ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ)   นี้คือ อารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน  (บิดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า) อันเป็นทางเที่ยวไป (โคจร)
เพราะเหตุว่า เมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔   มาร คือ กิเลส ย่อมครอบงำจิตไม่ได้

                                         
                                                         
                                                            ขออุทิศกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                             ........................................

วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ธรรมะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอย่างไร


 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

บางท่านอาจจะเข้าใจว่า "ธรรมมะ"  แยกออกจากชีวิตประจำวัน  แต่ถ้าเข้าใจแล้ว  จะรู้ได้ว่า "ธรรมะ" ก็คือชีวิตประจำวันนั่นเอง  พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเรื่องโลภะ ความติดข้อง ความต้องการ ความยินดีพอใจ.....ทรงแสดงเรื่องโทสะ  ความขุ่นใจ  ความหยาบกระด้าง  ความไม่พอใจ......ทรงแสดงเรื่องความเมตตา  ความกรุณา  มุทิตา  อุเบกขา.....ทรงแสดงเรื่องขันติ  เรื่องวิริยะ....ทรงแสดงเรื่องเกี่ยวกับตา  หู จมูก  ลิ้น กายและใจ  เรื่องการเห็น  การได้ยิน  การได้กลิ่น  การลิ้มรส  การกระทบสัมผัสทางกาย   เรื่องเกี่ยวกับคิดนึก  เรื่องความสุข  เรื่องความทุกข์

 พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงทั้งหมด  เป็นเรื่องของชีวิตประจำวัน  นอกจากนั้นยังทรงตรัสว่า  ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมะทั้งหมด  เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมแล้ว  ก็จะไม่บอกว่า  "ธรรมะแยกออกจากชีวิตประจำวัน"  เพราะเห็นว่า  ขณะนี้ก็เป็นธรรมะ  กำลังเห็น  กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส
กำลังกระทบสัมผัสทางกาย หรือกำลังคิดนึก  เราอาจจะเข้าใจว่า  เป็นเรา เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งของ  แต่ตามความจริงแล้ว  เป็นเพียงสภาพธรรมะชนิดหนึ่งที่มีจริง

อะไรก็ตามที่เป็นสิ่งที่มีจริง  เราจะไม่เรียกชื่อสิ่งนั้นก็ได้  หรือเรียกภาษาอื่นก็ได้  เช่น  เห็นมีจริง  จะไม่เรียกว่า "เห็น" ก็ได้  จะใช้ภาษาอื่นเรียกก็ได้  แต่ "เห็น"  ก็เป็นสภาพธรรมะที่มีจริง  และสภาพธรรมที่มีจริงนี้  เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  "สัจจธรรม"  คือ  เป็นธรรมะที่เป็นของแท้  ที่สามารถพิสูจน์ได้ทุกขณะ....พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องความละเอียดของธรรมะทุกอย่าง  ไม่เว้นเลย  เพราะฉะนั้น  จะทราบได้ว่า  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะ  ที่ทุกคนเคยเข้าใจผิด ๆ  และเคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งของต่าง ๆ   เพื่อให้เราเข้าใจอย่างถูกต้อง  จนกระทั่งความเข้าใจนั้นค่อย ๆ  เพิ่มขึ้น  เข้าใจตัวเราและเข้าใจในสิ่งที่มีอยู่รอบ ๆ ตัวเรา  เป็นปัญญาแต่ละขั้นซึ่งเพิ่มขึ้นนั่นเอง

 แต่ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเลย   เราก็อาจจะคิดว่า  ตัวเองดี  หรือบางคนก็อาจจะบอกว่า  รู้จักคนอื่นดี  คนนั้นนิสัยไม่ดี เป็นคนเห็นแก่ตัว  คนนี้เป็นคนดีมีนิสัยจิตใจดี  หรืออาจจะบอกว่า  รู้จักคนอื่นดี  แต่รู้จักตัวเองพอสมควร......แต่ถ้าเราได้ศึกษาพระธรรมจนเข้าใจดีแล้ว  เราจะรู้ว่า  สิ่งที่เราเคยคิดว่า  เราเข้าใจดีแล้วนั้น  ยังไม่ถูกต้องทั้งหมด  เพราะเหตุว่าไม่ตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้.


                                                   
                                                         ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                                ....................................

วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เรื่อง นางปติปูชิกา (๓๖)


ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี  ทรงปรารภหญิงชื่อปติปูชิกา  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปุปฺผานิ เทว"  เป็นต้น

 เรื่องตั้งขึ้นในดาวดึงส์เทวโลก.

                                         เทพธิดาจุติแล้วเกิดในกรุงสาวัตถี

ได้ยินว่า เทพบุตรนามว่ามาลาภารี  ในดาวดึงส์เทวโลกนั้น  มีนางอัปสรพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว  เข้าไปสู่สวน.  เทพธิดา ๕๐๐ ขึ้นสู่ต้นไม้  ยังดอกไม้ให้ตกอยู่.  เทพธิดา ๕๐๐ เก็บเอาดอกไม้ทีเทพธิดาเหล่านั้นให้ตกแล้ว  ประดับเทพบุตร.  บรรดาเทพธิดาเหล่านั้น  เทพธิดาองค์หนึ่ง  จุติบนกิ่งไม้นั่นแล.  สรีระดับไป  ดุจเปลวประทีป  นางถือปฏิสนธิในเรือนแห่งตระกูลหนึ่ง  ในกรุงสาวัตถี  ในเวลาที่นางเกิดแล้วเป็นหญิงระลึกชาติได้  ระลึกอยู่ว่า  "เราเป็นภริยาของมาลาภารีเทพบุตร"  ถึงความเจริญ กระทำการบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น  ปรารถนาการเกิดเฉพาะในสำหนักสามี.  นางแม้ไปสู่ตระกูลอื่น.  ในเวลามีอายุ ๑๖ ปี  ถวายสลากภัต  ปักขิกภัต  และวัสสาวาสิกภัตเป็นต้นแล้ว  ย่อมกล่าวว่า  "ส่วนแห่งบุญนี้"  จงเป็นปัจจัยเพื่อประโยชน์แก่อันบังเกิดในสำนักสามีของเรา."

                               
                                     จุติจากมนุษยโลกแล้วไปเกิดในสวรรค์

ลำดับนั้น  ภิกษุทั้งหลายทราบว่า  "นางนี้ ลุกขึ้นเสร็จสรรพแล้วย่อมปรารถนาสามีเท่านั้น"  จึงขนานนามของนางว่า  "ปติปูชิกา."

แม้นางปติปูชิกานั้น  ย่อมปฏิบัติโรงฉัน  เข้าไปตั้งน้ำฉัน  ปูอาสนะเป็นนิตย์.  มนุษย์แม้พวกอื่น  ใคร่เพื่อจะถวายสลากภัตเป็นต้น  นำมามอบให้ด้วยคำว่า  "แม่  ท่านจงจัดแจงภัตเหล่านี้  แก่ภิกษุสงฆ์."  แม้นางเดินไปเดินมาอยู่โดยทำนองนั้น  ได้กุศลธรรม ๕๖ ทุกย่างเท้า.  นางตั้งครรภ์แล้ว.  นางก็คลอดบุตร  โดยกาลอันล่วงไป ๑๐ เดือน.  ในกาลที่บุตรนั้นเดินได้  นางได้บุตรแม้อื่น ๆ รวม ๔ คน.  ในวันหนึ่ง  นางถวายทาน  ทำการบูชา ฟังธรรม รักษาสิกขาบท  ในเวลาเป็นที่สุดแห่งวัน  ก็ทำกาละด้วยโรคชนิดหนึ่ง  ซึ่งบังเกิดขึ้นในขณะนั้น  แล้วบังเกิดในสำนักสามีเดิมของตน


                                         อายุของมนุษย์ประมาณ ๑๐๐ ปี

ฝ่ายนางเทพธิดานอกนี้  กำลังประดับอยู่นั่นเอง  ตลอดกาลเท่านี้.  เทพบุตรเห็นนางนั้น  กล่าวว่า  "เธอหายหน้าไปตั้งแต่เช้า,  เธอไปไหนมา"

         เทพธิดา.     ดิฉันจุติค่ะ  นาย.

         เทพบุตร.     เธอพูดอะไร

         เทพธิดา.     ข้อนั้นเป็นอย่างนี้  นาย.

         เทพบุตร.     เธอเกิดแล้วในที่ไหน.

         เทพธิดา.     เกิดในเรือนแห่งตระกูล  ในกรุงสาวัตถี

         เทพบุตร.     เธอดำรงอยูในกรุงสาวัตถีนั้นสิ้นกาลเท่าไร

         เทพธิดา.     ข้าแต่นาย  ดิฉันออกจากท้องมารดา  โดยกาลอันล่วงไป ๑๐ เดือน  ในเวลาอายุ ๑๖ ปี ไปสู่ตระกูลสามี  คลอดบุตร ๔ คน  ทำบุญมีทานเป็นต้น  ปรารถนาถึงนาย  มาบังเกิดแล้วในสำนักของนายตามเดิม.

         เทพบุตร.    พวกมนุษย์ถือเอาอายุประมาณเท่านี้เกิดแล้ว  เป็นผู้ประมาทเหมือนหลับ  ยังกาลให้ล่วงไปหรือ  หรือทำบุญมีทานเป็นต้น

         เทพธิดา.    พูดอะไร นาย.  พวกมนุษย์ประมาทเป็นนิตย์  ประหนึ่งถือเอาอายุตั้งอสงไขยเกิดแล้้ว  ประหนึ่งว่าไม่แก่ไม่ตาย.
         ความสังเวชเป็นอันมาก  ได้เกิดขึ้นแก่มาลาภารีเทพบุตรว่า "ทราบว่า  พวกมนุษย์ถือเอาอายุประมาณ ๑๐๐ ปีเกิดแล้ว  ประมาทนอนหลับอยู่.  เมื่อไรหนอ  จึงจักพ้นจากทุกข์ได้

     
                                      ๑๐๐ ปีของมนุษย์เท่า ๑ วันในสวรรค์

ก็ ๑๐๐ ปีของพวกเรา  เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของพวกเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์,  ๓๐  ราตรีโดยราตรีนั้น เป็นเดือนหนึ่ง  กำหนดด้วย ๑๒ เดือนโดยเดือนนั้น  เป็นเดือนหนึ่ง,  กำหนดด้วย ๑๒ เดือนโดยเดือนนั้น  เป็นปีหนึ่ง,  ๑๐๐ ปีทิพย์ โดยปีนั้น  เป็นประมาณอายุของเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์,   ๑,๐๐๐ ปีทิพย์นั้น  โดยการนับในมนุษย์เป็น ๓ โกฏิ ๖ ล้านปี.

เพราะฉะนั้น  แม้วันเดียวของเทพบุตรนั้น ก็ยังไม่ล่วงไป เป็นเป็นกาลเช่นครู่เดียวเท่านั้น.  ขึ้นชื่อว่าความประมาทของสัตว์ผูมีอายุน้อยอย่างนี้ ไม่ความอย่างยิ่งแล

ในวันรุ่งขึ้น  พวกภิกษุเข้าไปสู่บ้าน  เห็นโรงฉันยังไม่ได้จัดอาสนะยังไม่ปู  น้ำฉันยังไม่ได้ตั้งไว้  จึงกล่าวว่า  "นางปติปูชิกาไปไหน"    

ชาวบ้าน. ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจักเห็นนาง  ณ ที่ ไหน  วันวานนี้  เมื่อพระผู้เป็นเจ้าฉันแล้ว (กลับ) ไป,  นางตายในตอนเย็น.

ภิกษุปุถุชนฟังคำนั้นแล้ว  ระลึกถึงอุปการะของนางนั้น  ไม่อาจจะกลั้นน้ำตาไว้ได้,   ธรรมสังเวชได้เกิดแก่พระขีณาสพ.  ภิกษุเหล่านั้นทำภัตกิจแล้ว ไปวิหาร ถวายบังคมพระศาสดา  ทูลถามว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  อุบาสิกาชื่อปติปูชิกา ลุกขึ้นเสร็จสรรพแล้ว ทำบุญมีประการต่าง ๆ ปรารถนาถึงสามีเท่านั้น,  บัดนี้ นางตายแล้ว (ไป) เกิด ณ ที่ไหน"

พระศาสดา.  ภิกษุทั้งหลาย  นางปรารถนาถึงสามีนั้น ก็หามิได้, มาลาภารีเทพบุตร ในดาวดึงส์พิภพ เป็นสามีของนาง,  นางเคลื่อนจากที่ประดับดอกไม้ของสามีนั้นแล้ว  ไปบังเกิดในสำนักของสามีนั้นนั่นแลอีก

ภิกษุ.  ได้ยินว่า อย่างนั้นหรือ  พระเจ้าข้า.

พระศาสดา.  อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย.

ภิกษุ น่าสังเวช ! ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อย (จริง)  พระเจ้าข้า  เช้าตรู่ นางอังคาสพวกข้าพระองค์  ตอนเย็น  ตายด้วยพยาธิที่เกิดขึ้น.

พระศาสดา.  อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า  ชีวิตของสัต์ทั้งหลายน้อย (จริง).  เหตุนั้นแล มัจจุราชผู้กระทำซึ่งที่สุด ยังสัตว์เหล่านี้ซึ่งไม่อิ่ม ด้วยวัตถุกาม และกิเลสกามนั่นแล  ให้เป็นไปในอำนาจของตนแล้ว ย่อมพาเอาสัตว์ที่คร่ำครวญ ร่ำไรไป"  ดังนี้แล้ว  ตรัสพระคาถานี้ว่า..

                          ๔. ปุปฺผานิ เหว ปจินนฺตํ      พฺยาสตฺตมนสํ  นรํ
                              อติตฺตํเยว   กาเมสุ         อนฺตโก   กุรุเต   วสํ ฯ

                           "มัจจุ  ผู้ทำซึ่งที่สุด   กระทำนระผู้มีใจข้องในอารมณ์ต่าง ๆ
                     เลือกเก็บดอกไม้อยู่เทียว  ผู้ไม่อิ่มในกามทั้งหลายนั่นแล  สู่อำนาจ."

                                                    
                                                          แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น  บาทพระคาถาว่า  ปุปฺผานิ  เทว  ปจินนฺตํ  ความว่า  ผู้มัวเลือกเก็บดอกไม้คือกามคุณทั้งหลาย  อันเนื่องด้วยอัตภาพและเนื่องด้วยเครื่องอุปกรณ์อยู่  เหมือนนายมาลาการ  เลือกเก็บดอกไม้ต่างชนิดอยู่ในสวนดอกไม้ฉะนั้น.

บาทพระคาถาว่า  พฺยาสตฺตมนสํ  นรํ  ความว่า  ผู้มีจิตซ่านไปโดยอาการต่าง ๆ ในอารมณ์อันยังไม่ถึงแล้ว  ด้วยสามารถแห่งความปรารถนาในอารมณ์ที่ถึงแล้ว  ด้วยสามารถแห่งความยินดี.

บาทพระคาถาว่า  อติตฺตํเยว  กาเมสุ  ความว่า  ผู้ไม่อิ่มในวัตถุกามและกิเลสกามทั้งหลายนั่นแล  ด้วยการแสวงหาบ้าง  ด้วยการได้เฉพาะบ้าง  ด้วยการใช้สอยบ้าง  ด้วยการเก็บไว้บ้าง.

บาทพระคาถาว่า  อนฺตโก  กุรุเต  วสํ  ความว่า  มัจจุผู้ทำซึ่่งที่สุด  กล่าวคือมรณะ  พานระผู้คร่ำครวญ ร่ำไร ไปอยู่ ให้ถึงอำนาจของตน.

ในเวลาจบเทศนา  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น  เทศนามีประโยชน์แก่มหาชน  ดังนี้แล.

                                                 จบ  เรื่องนางปติปูชิกา.

                      พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒
  
                      
                                              ขออุทิศส่วนกุศลแก่สรรพสัตว์


                                                ................................













วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เทพธิดาผู้เดือดร้อน



ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

นี่ก็เป็นตัวอย่างอีกท่านหนึ่ง  ที่สมัยยังมีชีวิตอยู่ไม่ได้ฟังพระธรรม  เมื่อไปเกิดเป็นเทพธิดาจึงมีความเดือดร้อนใจ....ซึ่งเป็นข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกานิกาย ปภัสสรวิมาน  มีข้อความว่า

เทพธิดากล่าวกับท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า.....

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  ดิฉันได้ถวายพวงมาลัยและน้ำอ้อย แด่พระคุณเจ้าผู้เที่ยวบิณฑบาตรอยู่  ดิฉันได้เสวยผลแห่งกรรมนั้นในเทวโลก  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  แต่ดิฉันยังมีความเดือดร้อน ผิดพลาด เพราะว่าดิฉันไม่ได้ฟังพระธรรม  อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นธรรมราชาทรงแสดงไว้ดีแล้ว

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ  เพราะเหตุนั้น ดิฉันจึงมากราบเรียนพระคุณเจ้า ซึ่งเป็นผู้อนุเคราะห์ดิฉัน  โปรดชักชวนผู้ที่ควรอนุเคราะห์นั้น ด้วยธรรมที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาทรงแสดงดีแล้ว  ทวยเทพที่มีศรัทธาความเชื่อในพระพุทธรัตนะ  พระธรรมรัตน  และพระสังฆรัตนะก็รุ่งโรจน์ล้ำดิฉัน  โดยอายุ ยศ สิริ
ทวยเทพอื่น ๆ  ก็ยิ่งยวดกว่า โดยอำนาจและวรรณะ มีฤทธิ์มากกว่าดิฉัน

อยู่บนสวรรค์  แต่ถ้าไม่รู้เรื่องลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เหมือนกันกับโลกมนุษย์  อยู่บนสวรรค์เห็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลิน  แต่ก็ไม่รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน  และเป็นมนุษย์ในขณะนี้ก็มีการเห็น  การได้ยิน การได้กลิ่น แต่ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แล้วจะทำอย่างไร  ก็มีหนทางเดียว  คือ ต้องฟังพระธรรมต่อไปอีก  พระธรรมเรื่องอะไร  ก็เรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ  โดยประการต่าง ๆ เพื่อที่จะให้สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏตามความเป็นจริง  และเห็นภัยว่า  เป็นเพียงสภาพธรรมที่เล็กน้อย  เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะแล้วดับไป ไม่มีสิ่งใดที่น่ายึดถือเลย.



                                                     ขออนุโมทนาบุญค่ะ


                                           ...........................................

วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ราคะ

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



                                             ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีได้ฉันใด
                                    ราคะย่อมเสียดแทงจิตที่ไม่ได้อบรมแล้วได้ฉันนั้น.
                                            ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ฉันใด
                                    ราคะก็ย่อมเสียดแทงจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ฉันนั้น.

อรรถว่า....จิตที่ไม่ได้รับการขัดเกลา ฝึกอบรมเจริญสติ เจริญปัญญา ย่อมจะต้องประสบกับความทุกข์เพราะถูกกิเลสครอบงำ.....กิเลส ได้แก่  ราคะ หมายถึง จิตที่ประกอบด้วยความยินดี พอใจ ติดข้อง ต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว และความนึกคิด  จึงเปรียบเสมือนบ้านที่มุงหลังคาไม่ดี หลังคาย่อมรั๋ว เมื่อฝนตกก็ลำบากและเดือดร้อน.


จิตที่ได้รับการขัดเกลา ฝึกอบรมเจริญสติ เจริญปัญญาอยู่เนือง ๆ  ย่อมไม่ประสบกับความทุกข์เพราะว่ากิเลสครอบงำไม่ได้..... กิเลส ได้แก่ ราคะ หมายถึงความยินดีพอใจ ติดข้อง ต้องการในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและทางใจย่อมไม่มี  เปรียบเสมือนบ้านที่มุงหลังคาดีแล้ว หลังคาย่อมไม่รั่ว เมื่อฝนตก ก็ไม่ลำบากและไม่เดือดร้อน.

                                       
                                                    ขออนุโมทนาบุญค่ะ

                                                 ................................           

สาระ,ไร้สาระ

                                        

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


                                              ชนเหล่าใด  มีปกติรู้ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ
                                        ว่าเป็นสาระ  และเห็นในสิ่งอันเป็นสาระว่า  
                                        ไม่เป็นสาระ  ชนเหล่่านั้น  มีความดำริผู้เป็นโคจร
                                        ย่อมไม่ประสบสิ่งอันเป็นสาระ  
                                               
                                              ชนเหล่าใดรู้สิ่ง อันเป็นสาระ  โดยความ
                                       เป็นสาระ  และสิ่งที่ไม่เป็นสาระ  โดยความไม่เป็น           
                                       สาระ  ชนเหล่านั้น มีความดำริชอบเป็นโคจร 
                                       ย่อมประสบสิ่งเป็นสาระ
  
อรรถว่า...บุคคลใดมีปกติเป็นผู้มีความเห็นผิด  มีความเห็นไม่ตรงตามความเป็นจริงว่า  สิ่งใดที่ไม่เป็นสาระหรือไม่มีประโยชน์  กลับเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีสาระหรือมีประโยชน์  และเห็นว่าสิ่งมีสาระหรือเป็นประโยชน์  เป็นสิ่งไร้สาระหรือไร้ประโยชน์  บุคคลเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ไม่่มีโอกาส ที่จะประสบกับสิ่งที่เป็นสาระประโยชน์เลย.....

บุคคลใดเป็นผู้ตรง มีความเห็นตรงตามความเป็นจริงของลักษณะสภาพธรรม  รู้ว่าสิ่งอันใดเป็นสาระประโยชน์  มีความเห็นตรงตามความเป็นจริง ว่าสิ่งนั้นมีสาระหรือเป็นประโยชน์  และมีความเห็นตรงว่าสิ่งไม่เป็นสาระประโยชน์  ว่าไม่เป็นสาระประโยชน์  บุคคลเหล่านั้น ย่อมจะประสบกับสิ่งที่มีสาระประโยชน์ได้  

                                                        
                                                  
                                                       ขออนุโมทนาบุญค่ะ   

                                               ...........................................                          

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ว่าด้วยคู่แห่งความดีและความชั่ว

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑

ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

                                    ๑. ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า  มีใจเป็นใหญ่
                                    สำเร็จแล้วด้วยใจ  ถ้าบุคคลมีใจร้ายแล้ว  พูดอยู่
                                    ก็ดี   ทำอยูก็ดี   ทุกข์ย่อมไปตามเขา  เพราะเหตุ
                                    นั้น  ดุจล้อหมุนไปตามรอยเท้าโค   ผู้นำแอกไปอยู่
                                    ฉะนั้น.

                                   ๒. ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า   มีใจเป็นใหญ่
                                   สำเร็จแล้วด้วยใจ   ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว
                                   พูดอยู่ก็ดี  ทำอยู่ก็ดี   ความสุขย่อมไปตามเขา
                                   เพราะเหตุนั้น  เหมือนเงาไปตามตัว

                                  ๓. ก็ชนเหล่าใดเข้าไปผูกความโกรธนั้นว่า  ผู้โน้น
                                  ได้ด่าเรา  ผู้โน้นได้ตีเรา   ผู้โน้นได้ชนะเรา  ผู้
                                  โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว   เวรของชนเหล่านั้น
                                  ย่อมไม่ระงับได้   ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูก
                                  ความโกรธนั้นไว้ว่า  ผู้โน้นได้ด่าเรา  ผู้โน้นได้ตีเรา
                                  ผู้โน้นได้ชนะเรา   ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว
                                  เวรของชนเหล่านั้นย่อระงับ

                                 ๔. ในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้  ย่อม
                                 ไม่ระงับด้วยเวรเลย  ก็แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่มี
                                 เวร  ธรรมนี้เป็นของเก่า

อธิบายว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธานเป็นหัวหน้า ในการรู้แจ้งสภาพธรรมทั้งหลาย  การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยจิต ถ้าบุคคลใดมีจิตอกุศล  จะกระทำอะไรอยู่ก็ดี  จะพูดอยู่ก็ดี ย่อมจะนำแต่ความทุกข์มาให้เขา  เพราะเหตุว่า  ความทุกข์เปรียบเสมือนกับวงล้อที่หมุนไปตามรอยเท้าโค ผู้นำแอกไป

จิตเป็นใหญ่เป็นหัวหน้าในการรู้แจ้งสภาพธรรมทั้งหลาย ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยจิต  ถ้าบุคคลใดมีจิตที่ผ่องใสแล้ว ไม่ว่าจะกระทำอะไรอยู่ก็ดี จะพูดอยู่ก็ดี  ย่อมจะนำแต่ความสุขมาให้เขา  เพราะเหตุว่า ความสุขเปรียบเสมือนเงาตามตัว

บุคคลเหล่าใดก็ตาม มีความผูกโกรธ ว่าคนโน้นได้ด่าเรา  คนโน้นได้ตีเรา  คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นขโมยของเรา เมื่อคิดผูกโกรธเช่นนี้ บุคคลผู้นั้นย่อมไม่มีความสงบ ย่อมเป็นผู้มีเวร....ส่วนบุคคลเหล่าใด ไม่ผูกโกรธว่า ผู้โน้นได้ด่าเรา  ผู้โน้นได้ตีเรา  ผู้โน้นได้ชนะเรา  ผู้โน้นได้ลักขโมยของเรา บุคคลผู้นั้นย่อมมีความสงบ  เวรของเขาย่อมไม่มี

ไม่ว่าในกาลไหน ๆ  เวรทั้งหลายในโลกนี้  ย่อมระงับได้ด้วยการไม่จองเวร  ธรรมนี้เป็นคำสอนที่มานานแล้ว.

                                                   ขออนุโมทนาค่ะ


                                          .....................................        













วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มงคลสูตร




                 ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


มงคลสูตรในขุททกปาฐะ

(๕) ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้. สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร อารามของท่านอนาถบิณฑิกะ กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้น เมื่อล่วงปฐมยามไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามเปล่งรัศมีสว่างทั่วพระเชตวัน  เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วยืน ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระคาถาว่า

(๖) เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ปรารถนาความสวัสดี พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์โปรดตรัสบอกมงคลอันอุดมด้วยเถิด พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบ ด้วยคาถาเหล่านั้นว่า

                                 
                                 การไม่คบพาล   การคบแต่บัณทิต   และการบูชา
                      ผู้ที่ควรบูชา นี้ก็เป็นมงคลอุดม

                                 การอยู่ในประเทศอันเหมาะ  ความเป็นผู้ทำบุญ
                     ไว้แต่ปางก่อน   การตั้งตนไว้ชอบ   นี่ก็เป็นมงคลอุดม

                                 ความเป็นพหูสูต   ความเป็นผู้มีศิลปะ   มีวินัยที่
                     ศึกษามาดี   มีวาจาเป็นสุภาษิต   นี่ก็เป็นมงคลอุดม

                                การบำรุงมารดาบิดา   การสงเคราะห์บุตรภริยา
                     การงานอันไม่อากูล   นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

                                ทาน  ธรรมจริยา   การสงเคราะห์ญาติ  การงาน
                     อันไม่มีโทษ   นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

                               การงดเว้นจากบาป   งดเว้นการดื่มน้ำเมา   ความ
                     ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย   นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

                               ความเคารพ   ความถ่อมตน   ความสันโดษ   ความ
                     กตัญญู   การฟังธรรมตามกาล   นี่ก็เป็นมงคลอุดม.
   
                              ความอดทน   ความว่าง่าย   การเห็นสมณะ   การ
                     สนทนาธรรมตามกาล   นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

                             ตบะ   พรหมจรรย์   การเห็นอริยสัจ   การทำพระ-
                     นิพพานให้แจ้ง   นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

                            จิตของผู้ที่ถูกโลกธรรมกระทบแล้ว  ไม่หวั่นไหว
                    ไม่เเศร้าโศก   ไม่เศร้าหมองละอองกิเลส   เกษม
                    ปลอดโปร่ง   นี่ก็เป็นมงคลอุดม.

                            เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย   ทำมงคลดังนี้แล้ว
                   ไม่พ่ายแพ้ในข้าศึกทั้งปวง   ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุก
                   สถาน   นี่แลมงคลอุดม  ของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น.


                                                  จบมงคลสูตร      

                                       ......................................

                                            ขออนุโมทนาบุญค่ะ


       

พาลและบัณฑิต




                                       

                    ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



                                                      พาลบัณฑิตสูตร

                                        พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม
                       ตรัสแสดงลักษณะของคนพาล ๓ อย่าง คือ คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว  
                 คนพาลจะประสบกับทุกข์โทมนัสถึง ๓ ประการในปัจจุบัน และตายไปก็จะเข้าสู่นรก
                        กำเนิดเป็นดิรัจฉาน หรือถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลต่ำ 
                              ยากจน มีผิวพรรณทราม มีโรคเบียดเบียน ไม่มีลาภ 

                             ส่วนบัณฑิตมีลักษณะ ๓ ลักษณะ คือ คิดดี พูดดี ทำดี 
                       บัณฑิตย่อมได้เสวยสุขโสมนัสถึง ๓ ประการในปัจจุบัน และตายไป
                                               ก็จะเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ 
                                    แล้วทรงแสดงสมบัติจักรพรรดิ์โดยละเอียดว่า
                           เทียบกันไม่ได้เลยกับสมัยสมบัติทิพย์ หรือถ้าเกิดเป็นมนุษย์
                                      ก็เกิดในตระกูลสูงมั่งคั่ง รูปงาม มีลาภ


                                                ....................................

                                                       อนุโมทนาค่ะ

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สะอาดด้วยน้ำ หรือด้วยความประพฤติ


ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ตำบาลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยา สมัยนั้น ชฎิล (นักบวชเกล้าผมเป็นเซิง) มากหลาย ดำผุดบ้าง ดำหัวบ้าง เอามือวักน้ำรดตนเองบ้าง ในแม่น้ำคยา บูชาไฟบ้าง ในสมัยที่มีหิมะตกระหว่างราตรีฤดูหนาว อันเย็นเยียบ ด้วยคิดว่า ความบริสุทธิ์จะมีได้ด้วยวิธีการนี้

พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นชฎิลเหล่านั้นทำอาการอย่างนั้น จึงทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า


                   "ความบริสุทธิ์เพราะน้ำในแม่น้ำ ที่คนเป็นอันมากอาบนั้น ย่อมไม่มี
                          ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรมะ ผู้นั้นเป็นผู้สะอาด เป็นพราหมณ์"


                                                    .............................

                                     
                                       อนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่านด้วยค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เวียนว่ายตายเกิด



ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
 
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย...เปรียบเสมือนท่อนไม้ที่โยนขึ้นไปในอากาศ บางครั้งก็ตกลงทางโคน บางครั้งก็ตกลงทางกลาง บางครั้งก็ตกลงทางปลาย  สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด วิ่งไป ท่องเที่ยวอยู่ บางครั้งก็ไปสู่โลกอื่นจากโลกนี้ บางครั้งก็มาสู่โลกนี้จากโลกอื่น...ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  สงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) นี้ มีที่สุดอันตามไปไม่พบ ไม่ปรากฏเงื่อนเบื้องต้น เบื้องปลายของสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกมัด วิ่งไป ท่องเที่ยวไปอยู่ ควรเพื่อที่จะเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในสังขารทั้งปวง ควรที่จะพ้นไปเสีย"

อธิบายว่าการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลก เปรียบเหมือนกับท่อนไม้ที่ถูกโยนขึ้นไปในอากาศ แล้วก็ตกลงมา บางครั้งก็ทางโคนไม้ลงก่อน บางครั้งก็ตกลงทางกลาง บางครั้งก็ตกลงทางปลาย สัตว์โลกทั้งหลายผู้ที่ยังต้องเวียนเกิดเวียนตายท่องเทียวอยู่ เพราะมีอวิชชาความไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม มีตัณหาหรือโลภะเป็นเครื่องผูกมัด บางครั้งก็ตายจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น บางครั้งก็จากโลกอื่น มาสู่โลกนี้....สัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิดหลายภพชาติ เพราะมีอวิชชาแแแแแแแและตัณหาเป็นเหตุปัจจัย หาที่สุดไม่ได้ ไม่มีเบื้องต้นและเบื้องปลาย เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะเบื่อหน่ายคลายความยึดมั่นในสังขารทั้งปวง ซึ่งได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ


                                            ........................................

                                       
                                        ขออนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่านค่ะ

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บุคคลย่อมลำบาก





                         ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 

                                             บุคคลย่อมลำบากและดิ้นรนบ่อย ๆ
                                                 คนโง่ย่อมเข้าสู่ครรภ์บ่อย ๆ
                                                บุคคลย่อมเกิดและตายบ่อย ๆ
                                          ชนทั้งหลายย่อมหามเขาไปสู่ป่าช้าบ่อย ๆ


                                                  ส่วนผู้มีปัญญาดังแผ่นดิน
                                             ครั้นได้มรรคเพื่อความไม่เกิดอีก
                                                       ย่อมไม่เกิดบ่อย ๆ 
                                                    ถ้าเพลิดเพลินกับอะไร
                                               ก็จะต้องเศร้าโศกเพราะสิ่งนั้น
                                                      ถ้าคาดหวังกับอะไร
                                             ก็จะต้องผิดหวังกับสิ่งนั้นแน่นอน


                                                 ....................................



                                                ธรรมชาติอันมีอยู่โดยธรรมดา
                                           เขาแสดงความจริง คือ ความไม่เที่ยง
                                        เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ให้ปรากฏอยู่ทุกเมื่อ
                                  เมื่อผู้ปฏิบัติมาพิจารณา ด้วยสติปัญญาโดยอุบายนี้
                                         อยู่เสมอแล้ว ชื่อว่าได้ฟังธรรมอยู่ทุกเมื่อ
                                                 ทั้งกลางวันและกลางคืนแล


                                                 ......................................


                                          ขออนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่านค่ะ














วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จิตขุ่นพาไปสู่ทุคติ







 
                                                   จิตขุ่นพาไปสู่ทุคติ
                                  พระพุทธเจ้าทรงทราบบุคคลบางคนในโลกนี้
                                            ผู้มีจิตขุ่นมัว ได้ทรงพยากรณ์
                              เนื้อความนี้แก่ภิกษุทั้งหลายในสำนักของพระองค์ว่า
                                           ถ้าในสมัยนี้ บุคคลนี้พึงกาลไซร้
                          เข้าพึงเข้าถึงนรกเพราะจิตของเขาขุ่นมัว เขาเป็นอย่างนั้น
                                           เหมือนถูกนำมาทอดทิ้งไว้ฉะนั้น
                                              สัตว์ทั้งหลายย่อมไปสู่ทุคติ
                                                เพราะเหตุแห่งจิตขุ่นมัว 

                                                  ...........................


                        
                                ทุคติอย่างหนึ่งอย่างใดในโลกนี้และในโลกหน้า
                          ทั้งหมดมีอวิชชาเป็นมูลอันปรารถนาและความโลภก่อขึ้น
                               ก็เพราะเหตุที่บุคคลเป็นผู้มีความปรารถนาลามก
                                               ไม่มีหิริ ไม่มีความเอื้อเฟื้อ
                           ฉะนั้น จึงย่อมประสบบาป ต้องไปสู่อบายเพราะบาปนั้น
                            เพราะเหตุนั้น ภิกษุสำรอกฉันทะ โลภะและอวิชชาได้
                                ให้วิชชาบังเกิดขึ้นอยู่ พึงละทุคติทั้งปวงเสียได้


                                                ...........................


                                                   
                                                    บุคคลผู้สงบ
                                    บุคคลผู้สงบเว้นจากการทำความชั่ว
                                          พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน 
                                        ย่อมกำจัดบาปกรรมทั้งหลาย
                                  เหมือนลมพัดใบไม้ให้ร่วงหล่นไปโแนั้น                                               

                                              ............................




                                                ขออนุโมทนาค่ะ