Translate

วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

คนดุและคนสงบเสงี่ยม



                      ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น

ข้อความในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค คามนิสังยุตต์ จัณฑสูตร ข้อ ๕๘๖  มีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล นายจัณฑคามณีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ  ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ ถึงความนับว่า เป็นคนดุ เป็นคนดุ ก็อะไรหนอเป็นเหตุปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ ถึงความเป็นคนสงบเสงี่ยม เป็นคนสงบเสงี่ยม

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร นายคามณี  คนบางคนในโลกนี้ยังละราคะไม่ได้  เพราะเป็นผู้ละราคะไม่ได้  คนอื่นจึงยั่วให้โกรธ คนที่ยังละราคะไม่ได้  คนอื่นยั่วให้โกรธ ย่อมแสดงความโกรธให้ปรากฏ ผู้นั้นจึงนับได้ว่าเป็นคนดุ

ข้อความต่อไปได้ทรงแสดงถึงคนที่ยังละโทสะไม่ได้ และคนที่ละโมหะไม่ได้ โดยนัยเดียวกัน  ส่วนผู้ที่ละราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ก็ตรงกันข้าม  คือเป็นผู้สงบเสงี่ยม คือ คนอื่นไม่สามารถยั่วให้โกรธได้ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มีราคะ โทสะ โมหะน้อย

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว  นายจัณฑคามณีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก  พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก  พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกหนทางให้แก่คนหลงทาง  หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า  คนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ  ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปฯ

ท่านผู้อ่านคงจะสังเกตเห็นข้อความกล่าวซ้ำ ๆ ในพระไตรปิฏก หรือในชีวิตประจำวัน ก็จะต้องมีเหตุที่ทำให้มีการกล่าวคำซ้ำ ๆ เช่นนั้น  ซึ่งสามารถพิจารณารู้ได้.....

ข้อความในมโนรถปุรนี  อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต วรรคที่ ๒ อธิบายอภิกันตศัพท์ มีว่า

ผู้รู้พึงทำการพูดซ้ำ ๆ ในความกลัว  ความโกรธ  การสรรเสริญ  ในความรีบด่วน ในความโกลาหล ในความอัศจรรย์  ในความร่าเริง  ในความโศกเศร้า และในความเลื่อมใสดังนี้

เพราะฉะนั้น  ทุกขณะที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน  อาจจะพูดซ้ำ ๆ สติระลึกได้  รู้ว่าในขณะนั้นกลัว  หรือว่าขณะนั้นโกรธ หรือว่าขณะนั้นเศร้าโศก หรือขณะนั้นเป็นความโกลาหล หรือเป็นการสรรเสริญ  การรีบด่วน เป็นการรื่นเริง  เป็นความเลื่อมใส  ทุกขณะในชีวิตประจำวันเป็นของจริง ก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมแต่ละขณะที่ปรากฏ  เพราะฉะนั้น  สติสามารถที่จะระลึกได้  ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมที่เล็กน้อยสักเพียงใด  และไม่ว่าจะอยู่ในภพภูมิใด จะเป็นโทสมูลจิต ซึ่งเป็นความทุกข์อย่างเบาบางเล็ก ๆ น้อย ๆ  หรือว่าจะเป็นโทสมูลจิตซึ่งเป็นความทุกข์ เป็นโทมนัสเวทนาอย่างรุนแรง  สติก็สามารถจะระลึกได้ ซึ่งสำหรับในกามภูมิ สุขกับทุกข์ก็เจือปนกัน แต่ว่าในบางภูมิ สุขย่อมมากกว่าทุกข์  แต่ก็ไม่่ได้หมายความว่า จะปราศจากซึ่งทุกข์เสียเลย.


                   ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน


                                                 ........................................................