Translate

วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เรื่อง พระติสสเถระ [๓] (ต่อ)

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท  เล่ม ๑  ภาค ๒  ตอน ๑  หน้า ๖๒

                                                   
                                                        ดาบสทั้งสองต่างสาปกัน

ท.  ชฎิลโกง  เราจะสาปท่าน

น.  ท่านอาจารย์  ท่านอย่าทำอย่างนี้เลย.

เธอมิเอื้อเฟื้อถ้อยคำของนารทดาบสนั้น  ยังขืนสาปนารทดาบสนั้น  (ด้วยคาถา) ว่า
"พระอาทิตย์ มีรัศมีตั้ง ๑,๐๐๐  มีปกติกำจัดความมืด,  พอพระอาทิตย์ขึ้นมาในเวลาเช้า  ขอศีรษะของท่านจงแตกออก ๗ เสี่ยง"

นารทดาบส  กล่าวว่า  "ท่านอาจารย์  โทษของผมไม่มี  เมื่อกำลังพูดอยู่ทีเดียว  ท่านได้สาปแล้ว.  โทษของผู้ใดมีอยู่  ขอศีรษะของผู้นั้นจงแตก.  ของผู้ไม่มีโทษ จงอย่าแตก"  ดังนี้แล้ว ได้สาป (ด้วยคาถา) ว่า

"พระอาทิตย์ มีรัศมีตั้ง ๑,๐๐๐  มีเดชตั้ง ๑๐๐  มีปกติกำจัดความมืด.  พอพระอาทิตย์ขึ้นมาในเวลาเช้า  ขอศีรษะของท่านจงแตกออก ๗ เสี่ยง."

และนารทดาบสนั้น มีอานุภาพใหญ่  ตามระลึกชาติได้ ๘๐ กัลป์ คือ ในอดีตกาล  ๔๐ กัลป์  ในอนาคตกาล ๔๐ กัลป์.  เพราะเหตุนั้นท่านคิดว่า  "ความสาปจักตกในเบื้องบนแห่งใครหนอแล ?"  ดังนี้  เมื่อใคร่ครวญไป  ก็ทราบว่า  "จักตกในเบื้องบนแห่งอาจารย์"  อาศัยความกรุณาในเธอ  จึงได้ห้ามอรุณขึ้นด้วยกำลังฤทธิ์"

                                                 ประชาชนเดือดร้อนตลอดถึงพระราชา

ชาวพระนคร เมื่ออรุณไม่ขึ้นอยู่ ก็พากันไปสู่ประตูพระราชวัง แล้วกราบทูลพิไรว่า  "ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อพระองค์ทรงครองราชสมบัติอยู่  อรุณไม่ขึ้น.  ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดให้อรุณขึ้น  เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด."

พระราชา ทรงพิจารณาจริยาอนุวัตร  มีกายกรรมเป็นต้น ของพระองค์ มิได้ทรงเห็นการอันไม่สมควรอะไร ๆ จึงทรงพระดำริว่า  "เหตุอะไรหนอแล ?"  ดังนี้  ทรงระแวงว่า  "ชะรอยจะเป็นความวิวาทของพวกบรรพชิต"  ดังนี้แล้ว  จึงตรัสถามว่า  "พวกบรรพชิตในพระนครนี้มีอยู่บ้างหรือ ?"  เมื่อมีผู้กราบทูลว่า  "เมื่อเวลาเย็นวานนี้  มีพวกบรรพชิตมาสู่โรงนายช่างหม้อ  พระเจ้าข้า"  พระราชามีราชบุรุษถือคบนำเสด็จไปที่นั้น  ในทันใดนั้นเอง  ทรงอภิวาทพระนารทดาบสแล้ว  ประทับ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ตรัสถามว่า

"ผู้เป็นเจ้านารทะ  การงานทั้งหลายของพวกชมพูทวีป ย่อมเป็นไปไม่ได้,  โลกเกิดมืดแล้ว  เพราะเหตุอะไร  ท่านอันข้าพเจ้าถามแล้ว  ได้โปรดบอกเหตุนั้นแก่ข้าพเจ้า."

นารทดาบส  เล่าเรื่องทั้งปวงถวายเสร็จแล้ว  ถวายพระพรว่า  "อาตมภาพ อันดาบสรูปนี้สาปแล้วเพราะเหตุนี้.  เมื่อเป็นอย่างนั้น  อาตมภาพจึงได้กล่าวสาปบ้างว่า  "โทษของข้าพเจ้าไม่มี.  โทษของผู้ใดมี;  ความสาปจงตกในเบื้องบนแห่งผู้นั้นแล"  ก็ครั้นสาปแล้วจึงคิดว่า  "ความสาปจักตกในเบื้องบนแห่งใดหนอแล ?"  เมื่อใคร่ครวญไปก็เห็นว่า  "ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น  ศีรษะของอาจารย์จักแตกออก ๗ เสี่ยง"  ดังนี้แล้ว อาศัยความกรุณาในท่าน  จึงมิให้อรุณขึ้นไป.

ร.  ก็อย่างไร  อันตรายจะไม่พึงมีแก่ท่านเล่า  ขอรับ ?.

น.  ถ้าท่านขอโทษอาตมภาพเสีย อันตรายก็จักไม่พึงมี.

ร.  ถ้าอย่างนั้น  ท่านจงขอโทษเสียเถิด.

ท.  ชฎิลนั่นเหยียบอาตมภาพ ที่ชฎาและที่คอ อาตมภาพไม่ยอมขอโทษชฎิลโกงนั่น.

ร.  ขอท่านจงขอโทษเสียเถิด ขอรับ  ท่านอย่าทำอย่างนี้.

เทวลดาบสทูลว่า  "อาตมภาพ ไม่ยอมขอโทษ"  แม้เมื่อพระราชาตรัสว่า  "ศีรษะของท่านจักแตกออก ๗ เสี่ยง "  ดังนี้  ก็ยังไม่ยอมขอโทษอยู่นั่นเอง.

ลำดับนั้น  พระราชาตรัสกับเธอว่า  "ท่านจักไม่ยอมขอโทษตามชอบใจของตนหรือ ?"  ดังนี้แล้ว  จึงรับสั่งให้ราชบุรุษจักเทวลดาบสนั้นที่มือ ที่เท้า ที่ท้อง ที่คอ  ให้ล้มลงที่บาทมูลแห่งนารทดาบส.

นารทดาบสกล่าวว่า  "อาจารย์ เชิญท่านลุกขึ้นเถิด,  ข้าพเจ้ายอมยกโทษให้แก่ท่าน  ดังนี้แล้ว ถวายพระพรว่า  "มหาบพิตร ดาบสรูปนี้หาได้ขอโทษอาตมภาพตามใจสมัครไม่, มีสระอยู่ในที่ไม่ไกลสระหนึ่ง  ขอพระองค์รับสั่งให้เธอยืนทูนก้อนดินเหนียวบนศีรษะ  นารทดาบสเรียกเทวลดาบสมาว่า  "ท่านอาจารย์  ครั้นฤทธิ์อันผมคลายแล้ว.  เมื่อแสงพระอาทิตย์ตั้งขึ้นอยู่.  ท่านพึงดำลงเสียในน้ำแล้ว  โผล่ขึ้นไปเสียโดยทางอื่น."

 ก้อนดินเหนียวบนศีรษะของเทวลดาบสนั้น  พอรัศมีแห่งพระอาทิตย์ถูกเข้าเท่านั้น  ก็แตกออก ๗ เสี่ยง,  เทวลดาบสนั้น  ดำลงหนีไปที่อื่นแล้ว.

                                                       เวรไม่ระงับด้วยผูกเวร

พระศาสดา  ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว  ตรัสว่า  "ภิกษุทั้งหลาย  พระราชาในกาลนั้น ได้เป็นอานนท์แล้ว.  เทวลดาบสได้เป็นติสสะแล้ว.  นารทดาบส ได้เป็นเราเอง.  ถึงในครั้งนั้น  ติสสะนี้ก็เป็นผู้ว่ายากอย่างนี้เหมือนกัน"  ดังนี้แล้ว รับสั่งเรียกติสสะมาแล้ว  ตรัสว่า  "ติสสะ ก้เมื่อภิกษุคิดอยู่ว่า  เราถูกผู้โน้นด่าแล้ว ถูกผู้โน้นประหารแล้ว  ถูกผู้โน้นชนะแล้ว  ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราไปแล้ว"  ดังนี้  ชื่อว่าเวรย่อมไม่ระงับได้,  แต่เมื่อภิกษุไม่เข้าไปผูกอยู่อย่างนั้นนั่นแล เวรย่อมระงับได้,  ดังนี้แล  ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า ;-

                              ๓.   อกฺโกจฺฉิ  มํ  อวธิ  มํ     อชินิ   มํ   อาหาสิ   เม
                           
                               เย  จ  ตํ   อุปมยฺยนฺติ     เวรํ   เตสํ   น   สมฺมติ.
                            
                               อกฺโกจฺฉิ  มํ    อวธิ   มํ        อชินิ   มํ   อาหาสิ   เม
                          
                               เย   จ   ตํ    นูปนยฺหนฺติ  เวรํ    เตสูปสมฺมติ.

                               "ก็ชนเหล่าใด  เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า  'ผู้โน้นได้ด่าเรา  ผู้โน้นได้ตีเรา  ผู้โน้นได้ชนะเรา  ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว'  เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่ระงับได้,  ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า 'ผู้โน้นได้ด่าเรา ผู้โน้นได้ติเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา  ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว'  เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับได้"

                                                                      แก้อรรถ

บรรดาเหล่านั้น  บทว่า  อกฺโกจฺฉิ  คือ  ด่าแล้ว  บทว่า  อวธิ  คือ  ประหารแล้ว.  บทว่า  อชินิ คือ  ได้ชนะเราด้วยการอ้างพยานโกงบ้าง  ด้วยการกล่าวโต้ตอบถ้อยคำบ้าง  ด้วยการทำให้ยิ่งกว่าการทำบ้าง

บทว่า  อหาสิ คือ ผู้โน้นได้ลักของ คือบรรดาวัตถุทั้งหลายมีผ้าเป็นต้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งของเรา

สองบทว่า เย  จ  ตํ  เป็นต้น  ความว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง คือ  เทพดาหรือมนุษย์ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต เข้าไปผูกความโกรธนั้น คือ มีวัตถุเป็นต้นว่า  "คนโน้นได้ด่าเรา"  ดุจพวกคนขับเกวียน ขันทุบเกวียนด้วยชะเนาะ และดุจพวกประมง  อันสิ่งของมีปลาเน่า เป็นต้น ด้วยวัตถุมีหญ้าคาเป็นต้น  บ่อย ๆ ,  เวรของพวกเขาเกิดขึ้นแล้ว  คราวเดียวย่อมไม่ระงับ  คือว่าย่อมไม่สงบลงได้

บาทพระคาถาว่า  เย จ  ตํ  นูปมยฺหติ  ความว่า  ชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้น คือมีคำด่าเป็นต้นเป็นที่ตั้ง  ด้วยอำนาจการไม่ระลึกถึงและการไม่ทำไว้ในใจบ้าง  ด้วยอำนาจการพิจารณาเห็นธรรมอย่างนี้ว่า  "ใคร ๆ ผู้หาโทษมิได้  แม้ท่านคงจักด่าแล้วในภพก่อน  คงจักประหารแล้ว (ในภพก่อน)  คงจักเบิกพยานโกงชนะแล้ว (ในภพก่อน)  สิ่งของอะไร ๆ  ของใคร ๆ  ท่านคงจักข่มเหงชิงเอาแล้ว (ในภพก่อน)  เพราะฉะนั้น  ท่านแม้เป็นผู้ไม่มีโทษ  จึงได้ผลที่ไม่น่าปรารถนา มีคำด่าเป็นต้น"  ดังนี้บ้าง.  เวรของชนเหล่าานั้น  แม้เกิดแล้วเพราะความประมาท  ย่อมสงบได้ด้วยการไม่ผูก (โกรธ) นี้  ดุจไฟไม่มี เธอเกิดขึ้นแล้วดับไปฉะนั้นแล.

ในกาลจบเทศนา  ภิกษุแสนหนึ่ง ได้บรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสตาาปัตติผลเป็นต้น.  พระธรรมเทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.  พระติสสเถระ ถึงเป็นคนว่ายาก ก็กลายเป็นคนว่าง่ายแล้วดังนี้แล.

                                                          เรื่อง พระติสสเถระ  จบ.