Translate

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ที่ตั้งของความตรึกหรือความคิด



ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย


วิตักกสัณฐานสูตร 
สูตรว่าด้วยที่ตั้งของความตรึกหรือความคิด

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ เชตวนาราม  ตรัสสอนว่า  ภิกษุผู้ทำสมาธิ (ประกอบอธิจิต)  พึงใส่ใจเครื่องหมายหรือนิมิต (อารมณ์)  ๕  ประการอยู่เสมอ  คือ

๑.  เมื่อใส่ใจในอารมณ์ใด ที่เปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ   เกิดความคิดอกุศลขึ้นขณะนั้น  ถ้าสติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมขณะนั้นว่าเป็นอกุศล  กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นเหตุให้ละความคิดฝ่ายอกุศลได้  จิตก็มีความสงบจากอกุศล  เปรียบเสมือนนายช่างเอาลิ่มเนื้อละเอียด  ตอกเอาลิ่มเนื้อหยาบออกไป ฉะนั้นแล.

๒.  เมื่อใส่ใจในอารมณ์อื่น อันประกอบด้วยกุศล  ความคิดอกุศลก็ยังเกิดสลับได้อย่างรวดเร็ว  พึงพิจารณาเห็นโทษของความคิดฝ่ายอกุศล  กุศลจิตก็จะเกิดขึ้น  จิตก็จะสงบจากอกุศล  เป็นสมาธิได้  เปรียบเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่รักสวยรักงาม รังเกียจซากศพสัตว์ต่าง ๆ  ที่มาคล้องอยูที่คอ ฉะนั้น.

๓.  เมื่อพิจารณาโทษของความคิดฝ่ายอกุศลเหล่านั้น  ความคิดอกุศลก็ยังเกิดขึ้น    ก็พึงไม่ระลึกไม่ใส่ใจความคิดอกุศลนั้น  ก็จะละความคิดฝ่ายอกุศลได้ เกิดความสงบแห่งจิตเป็นสมาธิได้  เปรียบเสมือนคนตาดี  ไม่ต้องการเห็นรูป  ก็หลับตาเสียหรือมองไปที่อื่น

๔.  เมื่อไม่ระลึก  ไม่ใส่ใจความคิดฝ่ายอกุศล  ความคิดฝ่ายอกุศลยังเกิดขึ้น  ก็พึงใส่ใจถึงเหตุแห่งความคิดอกุศลนั้น  ก็จะทำให้ละความคิดฝ่ายอกุศลนั้นได้  เกิดความสงบแห่งจิตเป็นสมาธิได้  เปรียบเหมือนคนเดินเร็ว  เดินช้าลง หยุด ยืน นั่ง นอน เพิกอิริยาบถหยาบ ๆ  ลง  สำเร็จกิริยาบถละเอียดขึ้น.

๕.  เมื่อใส่ใจถึงเหตุแห่งความคิดฝ่ายอกุศล  ความคิดฝ่ายอกุศลยังเกิดขึ้น  ก็พึงเอาฟันกดฟัน  เอาลิ้นกดเพดาน  ข่มขี่บีบคั้นจิต  เปรียบเหมือนคนมีกำลังมาก  จับคอคนมีกำลังน้อยกว่า ข่มขี่บีบคั้น ฉะนั้น.

สรูป 

เมื่อกระทำได้อย่างนี้  ภิกษุนี้ก็ชื่อว่าชำนาญในทางเกี่ยววกับความคิด (วิตก  ความตรึก)  ประสงค์จะคิดหรือตรึกอะไรก็คิดได้ หรือประสงค์จะไม่คิดไม่ตรึกก็ละได้  นับว่าตัดตัณหาได้ คลายเครื่องร้อยรัดได้  ทำความทุกข์ให้ถึงที่สุดได้ ด้วยการตรัสรู้เรื่องของจิตโดยชอบ.


                 ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน  และขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์