Translate

วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

นางยักษิณีรู้ฝนมากฝนน้อย


พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท  เล่ม ๑  ภาค ๒  ตอน  ๑- หน้าที่ ๗๕

พระศาสดา  ได้ตรัสกะหญิงนั้นว่า  "เจ้าจงให้บุตรของเจ้าแก่นางยักษิณีเถิด"

ญ.  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์กลัว

ศ.  เจ้าอย่ากลัวเลย  อันตรายย่อมไม่มีแก่เจ้า  เพราะอาศัยนางยักษิณีนี้

นางได้ให้บุตรแก่นางยักษิณีนั้นแล้ว  นางยักษิณีนั้นอุ้มทารกนั้น  จูบกอดแล้ว  คืนให้แม่มารดาอีก  ก็เริ่มร้องไห้

ลำดับนั้น  พระศาสดา  ตรัสถามนางยักษิณีนั้นว่า  "อะไรนั่น ?"

นางยักษิณีนั้นกราบทูลว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  เมื่อก่อนข้าพระองค์  แม้สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยไม่เลือกทาง  ยังไม่ได้อาหารพอเต็มทอง  บัดนี้  ข้าพระองค์จะเลี้ยงชีพได้อย่างไร"

ลำดับนั้น  พระศาสดา  ตรัสปลอบนางยักษิณีนั้นว่า  "เจ้าอย่าวิตกเลย"  ดังนี้แล้ว  ตรัสกะหญิงนั้นว่า  "เจ้าจงนำนางยักษิณีไปให้อยู่ในเรือนของตนแล้ว  จงปฏิบัติด้วยข้าวต้มและข้าวสวยอย่างดี"  หญิงนั้นนำนางยักษิณีไปแล้ว  ให้พักอยู่ในโรงกระเดื่อง  ได้ปฏิบัติด้วยข้าวต้มและข้าวสวยอย่างดีแล้ว  ในเวลาซ้อมข้าวเปลือก  สากปรากฏแก่นางยักษิณีนั้นดุจต่อยศีรษะ  เขาจึงเรียกนางกุลธิดาผู้สหายมา  แล้วพูดว่า  "ฉันจักไม่อาจอยู่ในที่นี้ได้  ขอท่านจงให้ฉันพักอยู่ในที่อื่นเถิด"  แม้อันหญิงสหายนั้นให้พักอยู้ในที่เหล่านี้  คือในโรงสาก  ข้างตุ่มน้ำริมเตาไฟ  ริมชายคา  ริมกลงหยากเยื่อ  ริมประตูบ้าน  นางก็กล่าวว่า  "ในโรงสากนี้  สากย่อมปรากฏดุจต่อยศีรษะฉันอยู่  ที่ข้างตุ่มน้ำนี้  พวกเด็กย่อมราดน้ำเป็นเดนลงไป  ที่ริมเตาไฟนี้  ฝูงสนุขย่อมมานอน  ที่ริมชายคานี้  พวกเด็กย่อมทำสกปรก  ที่ริมกองหยากเยื่อนี้  ชนทั้งหลายย่อมเทหยากเยื่อ  ที่ริมประตูบ้านนี้  เด็กพวกชาวบ้าน  ย่อมเล่นการพนันกันด้วยคะแนน"  ดังนี้แล้ว  ได้ห้ามที่ทั้งปวงนั้นเสีย

ครั้งนั้น  หญิงสหายจึงให้นางยักษิณีนั้นพักอยู่ในที่อันสงัดภายนอกบ้าน  แล้วนำโภชนะมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นอย่างดี  ไปเพื่อให้นางยักษิณีนั้น  แล้วปฏิบัติในที่นั้น  นางยักษิณีนั้น  คิดอย่างนี้ว่า  "เดี๋ยวนี้หญิงสหายของเรานี้  มีอุปการะแก่เรามาก  เอาเถอะเราจักทำความแทนคุณสักอย่างหนึ่ง"  ดังนั้นแล้ว ได้บอกแก่นางสหายว่า  "ในปีนี้จักมีฝนดี  ท่านจงทำข้าวกล้าในที่ดอนเถิด  ในปีนี้ฝนจักแล้ง  ท่านจงทำข้าวกล้าในที่ลุ่มเถิด  ข้าวกล้าอันพวกชนที่เหลือทำแล้ว  ย่อมเสียหายด้วยน้ำมากเกิดไปบ้าง  ด้วยน้ำน้อยบ้าง  ส่วนข้าวกล้าของนางกุลธิดานั้นย่อมสมบูรณ์เหลือเกิน


...............................

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เวรไม่ระงับด้วยเวร แต่ระงับได้ด้วยไม่ผูกเวร

พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  คาถาธรรมบทเล่ม ๑  ภาค  ๒  ตอน  ๑   หน้าที่ ๗๓

ในสมัยนั้น  พระศาสดา  ทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท  นางกุลธิดานั้น  ให้บุตรนอนลงเคียงหลังพระบาทแห่งพระตถาคตแล้ว  ขอพระองค์ประทานชีวิตแก่บุตรข้าพระองค์เถิด"  สุมนเทพ  ผู้สิงอยู่ที่ซุ้มพระตู  ไม่ยอมให้นางยักษิณีเข้าไปข้างใน  พระศาสดารับสั่งเรียพระอานนทเถระมาแล้ว  ตรัสว่า  "อานนท์  เธอจงไปเรียกนางยักษิณีนั้นมา"

พระเถระเรียกนางยักษิณีนั้นมาแล้ว  นางกุลธิดา  กราบทูลว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  นางยักษิณีนี้มา"  พระศาสดาตรัสว่า  "นางยักษิณีจงมาเถิด  เจ้าอย่าได้ร้องไปเลย"  ดังนี้แล้ว  ได้ตรัสกะนางยักษิณีผู้มายืนแล้วว่า  "เหตุไร ?  เจ้าจึงทำอย่างนั้น  ก็ถ้าพวกเจ้าไม่มาสู่เฉพาะหน้าพระพุทธเจ้า  ผู้เช่นเราแล้ว  เวรของพวกเจ้า  จักได้เป็นกรรมตั้งอยู่ชั่วกัลป์  เหมือนเวรของงูกับพังพอน  ของหมีกับไม้สะคร้อ  และของกากับนกเค้า  เหตุไฉน  พวกเจ้าจึงทำเวรและเวรตอบแก่กัน ? "  เพราะเวรย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร  หาระงับได้ด้วยเวรไม่"  ดังนี้แล้ว  ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

๔.  น  หิ  เวเรน  เวรานิ        สมุมนฺตีธ  กุทาจนํ
      
     อเวเรน   จ   สมฺมนฺติ     เอส   ธมฺโม   สนนฺตโน.

"ในกาลไหน ๆ  เวรทั้งหลายในโลกนี้  ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย

ก็แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร  ธรรมนี้เป็นของเก่า."


แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้  บทว่า  น หิ  เวเรน  เป็นต้น  ความว่าเหมือนอย่างว่า  บุคคล  แม้เมื่อล้างที่ที่ซึ่งเปื้อนแล้วด้วยของไม่สะอาด  มีน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้น  ด้วยของไม่สะอาดเหล่านั้นแล  ย่อมไม่อาจทำให้เป็นที่หมดจด  หายกลิ่นเหม็นได้   โดยที่แท้   ที่นั้นกลับเป็นที่ไม่หมดจดและมีกลิ่นเหม็นยิ่งกว่าเก่าอีก  ฉันใด  บุคคลเมื่อด่าตอบชนผู้ด่าอยู่   ประหารตอบชนผู้ประหารอยู่   ย่อมไม่อาจระงับด้วยเวรได้  โดยที่แท้  เขาชื่อว่าทำเวรนั่นเองให้ยิ่งขึ้น  ฉันนั้นนั่นเทียว  แม้ในกาลไหน ๆ  ขึ้นชื่อว่าเวรทั้งหลาย  ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวร  โดยที่แท้  ชื่อว่าย่อมเจริญอย่างเดียว  ด้วยประการฉะนี้

สองบทว่า  อเวเรน  จ  สมฺมนฺติ  ความว่า  เหมือนอย่างว่าของไม่สะอาด  มีน้ำลายเป็นต้นเหล่านั้น  อันบุคคลล้างด้วยน้ำที่ใสย่อมหายหมดได้   ที่นั้นย่อมเป็นที่หมดจด   ไม่มีกลิ่นเหม็น  ฉันใด  เวรทั้งหลายย่อมระงับ  คือ ย่อมสงบ  ได้แก่  ย่อมถึงความไม่มีด้วยความไม่มีเวร  คือ ด้วยน้ำคือขันติและเมตตา  ด้วยการทำไว้ในใจแยบคายและด้วยการพิจารณา  ฉันนั้นนั่นเทียว

บาทพระคาถาว่า  เอส  ธมฺนตโน  ความว่า  ธรรมนี้  คือ  ที่นับถือ  ความสงบเวร  ด้วยความไม่มีเวร  เป็นของเก่า  คือ เป็นมรรคาแห่งพระพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า  และพระขีณาสพทั้งหลายทุก ๆ  พระองค์ ดำเนินไปแล้ว

ในกาลจบพระคาถา  นางยักษิณินั้น  ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผลแล้ว  เทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์  แม้แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว.






วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เรื่อง ความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี (ตอนที่ ๑)

พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท  เล่ม ๑  ภาค ๒  ตอน ๑- หน้าที่ ๖๘

ข้อความเบื้องต้น  

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภหญิงหมันคนใดคนหนึ่ง  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  "น  หิ  เวเรน  เวรานิ"  เป็นต้น.

มารดาหาภรรยาให้บุตร

ดังได้สดับมา  บุตรกุฏุมพีคนหนึ่ง  เมื่อบิดาสิ้นชีวิตแล้ว  เขาก็ได้ทำงานทุกอย่างด้วยตนเอง  เช่น  ทำนา  และงานในบ้านทุกอย่าง  ดูแลปฏิบัติมารดาด้วย  ต่อมามารดาได้บอกกับเขาว่า  "พ่อ แม่จักนำนางกุมาริกามาให้เจ้า"

บุตร.   แม่  อย่าพูดอย่างนี้เลย  ฉันจักปฏิบัติแม่ไปจนตลอดชีวิต

แม่.     พ่อ  เจ้าคนเดียวทำการงานทั้งหมด  ทั้งที่นาและที่บ้าน  เพราะเหตุนั้น  แม่จึงไม่มีความสบายใจเลย  แม่จักนำนางกุมาริกามาให้เจ้า

เขาแม้ว่าบุตรจะห้ามมารดาหลายครั้ง  แต่มารดาก็นิ่งเสีย  แล้วออกจากบ้านไป  เพื่อจะไปสู่ตระกูลหนึ่ง

ลำดับนั้น  บุตรถามมารดาว่า  "แม่จะไปตระกูลไหน ?"  เมื่อมารดาบอกว่า  "จะไปตระกูลชื่อโน้น"  ดังนี้แล้ว  ห้ามการที่จะไปตระกูลนั้นเสียแล้ว  บอกตระกูลที่ตนชอบใจให้  มารดาได้ไปตระกูลนั้น  หมั้นนางกุมาริกาไว้แล้ว  กำหนดวันแต่งงาน  นำนางกุมาริกาคนนั้นมาอยู่กับบุตรของตนในเรือน  นางกุมาริกานั้นเป็นหมัน  มารดาจึงพูดกะบุตรว่า  "พ่อ  เจ้าให้แม่นำนางกุมาริกามาตามชอบใจของเจ้าแล้ว  บัดนี้  นางกุมาริกานั้นเป็นหมัน  ก็ธรรมดาตระกูลที่ไม่มีบุตรย่อมฉิบหาย  ประเพณียอมไม่สืบเนื่องไป  เพราะฉะนั้น  แม่จักนำนางกุมาริกาคนอื่นมาให้เจ้า"  แม้บุตรนั้นกล่าวห้ามอยู่ว่า  "อย่าเลย  แม่"  ดังนี้  ก็ยังได้กล่าวอย่างนั้นบ่อย ๆ   หญิงหมันได้ยินคำนี้  จึงคิดว่า  "ธรรมดาบุตร  ย่อมไม่อาจฝืนคำมารดาบิดาไปได้ 

บัดนี้  แม่ผัวคิดจะนำหญิงอื่น  ผู้ไม่เป็นหมันมา  แล้วจักใช้เราอย่างทาส  ถ้าอย่างไรเราพึงนำนางกุมาริกาคนหนึ่งมาเสียเอง"  ดังนี้แล้วจึงไปยังตระกูลแห่งหนึ่ง  ขอนางกุมาริกา  เพื่อประโยชน์แก่สามี  ถูกพวกชนในตระกูลนั้นห้ามว่า  "หล่อนพูดอะไรเช่นนั้น"   ดังนี้แล้ว  จึงอ้อนวอนว่า  "ฉันเป็นหมัน  ตระกูลที่ไม่มีบุตร  ย่อมฉิบหาย  บุตรีของท่านได้บุตรแล้ว  จักได้เป็นเจ้าของสมบัติ  ขอท่านโปรดยกบุตรีนั้นให้แก่สามีของฉันเถิด"   ดังนี้แล้ว  ยังตระกูลนั้นให้ยอมรับแล้ว  จึงนำมาไว้ในเรือนของสามี

ต่อมา  หญิงหมันนั้น  ได้มีความปริวิตกว่า  "ถ้านางคนนี้จักได้บุตรหรือบุตรีไซร้  จักเป็นเจ้าของสมบัติแต่ผู้เดียว  ควรเราจะทำนางอย่าให้ได้ทารกเลย"


เมียหลวงปรุงยาทำลายครรภ์เมียน้อย

ลำดับนั้น  หญิงหมันจึงพูดกะนางนั้นว่า  "เมื่อหล่อนตั้งครรภ์ตั้งเมื่อใด  ขอให้บอกแก่ฉันเมื่อนั้น"   นางนั้นรับว่า  "จ้ะ"  เมื่อตั้งครรภ์แล้ว  ได้บอกแก่หญิงหมันนั้น  ส่วนหญิงหมันนั้นแล  ให้ข้าวต้มและข้าวสวยแก่นางนั้นเป็นนิตย์  ภายหลัง  นางได้ให้ยาสำหรับทำครรภ์ให้ตก (แท้ง)  ปนกับอาหารแก่นางนั้น  ครรภ์ก็ตก (แท้ง)  เมื่อตั้งครรภ์ครั้งที่ ๒  นางก็ได้บอกแก่หญิงหมันนั้น  แม้หญิงหมันก็ได้ทำครรภ์ให้แท้ง  ด้วยอุบายอย่างนั้นแล  เป็นครั้งที่ ๒

ลำดับนั้น  พวกหญิงที่คุ้นเคยกัน  ได้ถามนางนั้นว่า  "หญิงร่วมสามีทำอันตรายหล่อนบ้างหรือไม่ ?"   นางแจ้งความนั้นแล้ว  ถูกหญิงเหล่านั้นกล่าวว่า  "หญิงอันธพาล  เหตุไร  หล่อนจึงได้ทำอย่างนั้นเล่า ?  หญิงหมันนี้  ได้ประกอบยาสำหรับทำครรภ์ให้ตกให้แก่หล่อน  เพราะกลัวหล่อนจะเป็นใหญ่  เพราะฉะนั้น  ครรภ์ของหล่อนจึงตก  หล่อนอย่าได้ทำอย่างนี้อีก"   ในครั้งที่ ๓  นางจึงมิได้บอก   ต่อมา  ฝ่ายหญิงหมันเห็นท้องของนางนั้นแล้ว  จึงกล่าวว่า  "เหตุไร ?    หล่อนจึงไม่บอกความที่ตั้งครรภ์แก่ฉัน"  เมื่อนางนั้นกล่าวว่า  "หล่อนนำฉันมาแล้ว  ทำครรภ์ให้ตกไปเสียถึง ๒  ครั้งแล้ว  ฉันจะบอกแก่หล่อนทำไม ?"  จึงคิดว่า  "บัดนี้  เราฉิบหายแล้ว  คอยแลดูความประมาทของนางกุมาริกานั้นอยู่  เมื่อครรภ์แก่เต็มที่แล้ว  จึงได้ช่อง  ได้ประกอบยาให้  แล้วครรภ์ก็ไม่อาจตก  เพราะครรภ์แก่  จึงนอนขวาง (ทวาร) เวทนากล้าแข็งขึ้น  นางถึงความสิ้นชีวิต


นางตั้งความปรารถนาว่า  "เราถูกมันให้ฉิบหายแล้ว  มันเองนำเรามา  ทำทารกให้ฉิบหายถึง ๓  คนแล้ว   บัดนี้  เราเองก็จะฉิบหาย   บัดนี้  เราจุติจากอัตภาพนี้  พึงเกิดเป็นนางยักษิณี  อาจเคี้ยวกินทารกของมันเถิด"  ดังนี้แล้ว  ตายไปเกิดเป็นแมวในเรือนนั้นเอง  ฝ่ายสามี  จับหญิงหมันแล้ว  กล่าวว่า  "เจ้าได้ทำการตัดตระกูลของเราขาดสูญ"  ดังนี้แล้ว  ทุบด้วยอวัยวะทั้งหลายมีศอกและเข่าเป็นต้น  ให้บอบช้ำ  แล้วหญิงหมันนั้นตาย  เพราะความเจ็บนั้นแล  แล้วได้เกิดเป็นแม่ไก่ในเรือนนั้นเหมือนกัน


ผลัดกันสังหารคนละชาติด้วยอำนาจผูกเวร

จำเนียรกาลไม่นาน  แม่ไก่ได้ตกฟองหลายฟอง  แม่แมวมากินฟองไข่เหล่านั้นเสีย  ถึงครั้งที่ ๒  ครั้งที่ ๓  มันก็ได้กินเสียเหมือนกัน  แม่ไก่ทำความปรารถนาว่า  "มันกินฟองของเราถึง ๓ ครั้งแล้ว   เดี๋ยวนี้มันก็อยากกินตัวเราด้วย  เดี๋ยวนี้  เราจุติจากอัตภาพนี้แล้ว  พึงได้กินมันกับลูกของมัน"  ดังนี้แล้ว  จุติจากอัตภาพนั้น  ได้เกิดเป็นแม่เสือเหลือง  ฝ่ายแม่แมว  ได้เกิดเป็นแม่เนื้อ  ในเวลาที่เนื้อนั้นคลอดลูกแล้ว  แม่เสือเหลืองก็ได้มากินลูกของแม่เนื้อทั้งหมดถึง ๓ ครั้ง  เมื่อเวลาจะตาย  แม่เนื้อทำความปรารถนาว่า  "พวกลูกของเรา  แม่เสือเหลืองตัวนี้กินเสียถึง ๓ ครั้งแล้ว  เดี๋ยวนี้มันจักกินตัวเราด้วย  เดี๋ยวนี้เราจุติจากอัตภาพนี้แล้ว  พึงได้กินมันกับลูกของมันเถิด"   ดังนั้นแล้ว  ได้ตายไปเกิดเป็นนางยักษิณี   ฝ่ายแม่เสือเหลือง  จุติจากอัตภาพนั้นแล้วได้เกิดเป็นกุลธิดาในเมืองสาวัตถี  นางถึงความเจริญแล้ว  ได้ไปสู่ตระกูลสามีในบ้านริมประตูเมือง  ในกาลต่อมา  นางได้คลอดบุตรคนหนึ่ง  นางยักษิณีจำแลงตัวเป็นหญิงสหายที่รักของเขามาแล้ว  ถามว่า  "หญิงสหายของฉันอยู่ที่ไหน ?"  พวกชาวบ้านได้บอกว่า  "เขาคลอดบุตรอยู่ภายในห้อง"  นางยักษิณีฟังคำนั้น  แสร้งพูดว่า  "หญิงสหายของแันคลอดลูกเป็นชายหรือเป็นหญิงหนอ  ฉันจักดูเด็กนั้น"  ดังนี้แล้วเข้าไปทำเป็นแลดูอยู่  แล้วจับทารกกินจนหมดแล้วก็ไป

ถึงในหนที่ ๒  ก็ได้กินเสียเหมือนในหนที่ ๓  นางกุลธิดามีครรภ์แก่  เรียกสามีมาแล้ว  บอกว่า  "นาย  นางยักษิณีคนหนึ่งกินบุตรของฉันเสียในที่นี้  ๒  คนแล้ว  เดี๋ยวนี้  ฉันจักไปสู่เรือนแห่งตระกูลของฉันคลอดบุตร"  ดังนี้แล้ว  ไปสู่เรือนแห่งตระกูลเพื่อคลอดบุตรที่นั่น  ในกาลนั้น  นางยักษิณีนั้นถึงคราวส่งน้ำ  ด้วยว่า  นางยักษิณีทั้งหลายต้องตักน้ำ  จากสระอโนดาตทูนบนศีรษะมา  เพื่อท้าวเวสสวัณ  ตามวาระ  ต่อล่วง ๔ เดือนบ้าง  ๕  เดือนบ้าง  จึงพ้นจากเวรได้  นางยักษิณีเหล่าอื่นมีกายบอบช้ำ  ถึงความสิ้นชีวิตบ้างก็มี  ส่วนนางยักษิณีนั้น  พอพ้นจากเวรส่งน้ำแล้วเท่านั้น  ก็รีบไปสู่เรือนนั้น  ถามว่า  "หญิงสหายของฉันอยู่ที่ไหน ? "  พวกชาวบ้านบอกว่า  "ท่านจักพบเขาที่ไหน ? "  นางยักษิณีคนหนึ่งกินทารกของเขาที่คลอดในที่นี้  เพราะฉะนั้น  เขาจึงไปสู่เรือนแห่งตระกูล"  นางยักษิณีนั้นคิดว่า  "เขาไปในที่ไหน ๆ  ก็ตามเถิด  จักไม่พ้นเราได้"

ดังนั้นแล้ว  อันกำลังเวรให้อุตสาหะแล้ว  วิ่งบ่ายหน้าไปสู่เมือง  ฝ่ายนางกุลธิดา  ในวันไปรับชื่อให้ทารกนั้น  อาบน้ำ  ตั้งชื่อแล้ว  กล่าวกะสามีว่า  "นาย เดี๋ยวเราพากันไปสู่เรือนของเราเถิด"  อุ้มบุตรไปกับสามี  ตามทางอัดตัดไปในท่ามกลางวิหาร  มอบบุตรให้สามีแล้ว  ลงอาบน้ำในสระโบกขรณีข้างวิหารแล้ว  ขึ้นมารับเอาบุตร  เมื่อสามีกำลังอาบน้ำอยู่  ยืนให้บุตรดื่มนม  แลเห็นนางยักษิณีมาอยู่  จำได้แล้ว  ร้องด้วยเสียงอันดังว่า  "นาย  มาเร็ว ๆ  เถิด  นี้นางยักษิณีตนนั้น"  ดังนี้แล้ว  ไม่อาจยืนรออยู่จนสามีนั้นมาได้  จึงวิ่งกลับบ่ายหน้าไปสู่ภายในวิหาร.


















วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วัตถุกาม หมายถึงอะไร ?




วัตถุกาม  หมายยถึง สภาพธรรมทั้งหลาย  อันเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ  ได้แก่  รูป  เสียง  กลิ่น  รส โผฏฐัพพะ  นอกจากนั้นการเกิดในภพภูมิต่าง ๆ  เมื่อเกิดเป็นพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ  รูปพรหมภูมินั้นก็เป็นวัตถุกาม  คือ  เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจของรูปพรหมบุคคลนั้น  ผู้ทีเกิดในอรูปพรหมภูมิ  อรูปพรหมภูมิก็เป็นวัตถุกาม  คือ  เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจของอรูปพรหมบุคคลนั้น

โลภเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่ยินดีพอใจ  ติดข้องในอารมณ์ทุกอย่าง  นอกจากโลกุตตรธรรมเท่านั้น  ฉะนั้น  นอกจากโลกุตตรธรรมแล้ว  ธรรมอื่น ๆ  จึงเป็นวัตถุกาม  คือ  เป็นที่ตั้ง  เป็นที่ยินดีพอใจของ
โลภะได้



...........................

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ที่ตั้งของความตรึกหรือความคิด



ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย


วิตักกสัณฐานสูตร 
สูตรว่าด้วยที่ตั้งของความตรึกหรือความคิด

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ เชตวนาราม  ตรัสสอนว่า  ภิกษุผู้ทำสมาธิ (ประกอบอธิจิต)  พึงใส่ใจเครื่องหมายหรือนิมิต (อารมณ์)  ๕  ประการอยู่เสมอ  คือ

๑.  เมื่อใส่ใจในอารมณ์ใด ที่เปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ   เกิดความคิดอกุศลขึ้นขณะนั้น  ถ้าสติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมขณะนั้นว่าเป็นอกุศล  กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นเหตุให้ละความคิดฝ่ายอกุศลได้  จิตก็มีความสงบจากอกุศล  เปรียบเสมือนนายช่างเอาลิ่มเนื้อละเอียด  ตอกเอาลิ่มเนื้อหยาบออกไป ฉะนั้นแล.

๒.  เมื่อใส่ใจในอารมณ์อื่น อันประกอบด้วยกุศล  ความคิดอกุศลก็ยังเกิดสลับได้อย่างรวดเร็ว  พึงพิจารณาเห็นโทษของความคิดฝ่ายอกุศล  กุศลจิตก็จะเกิดขึ้น  จิตก็จะสงบจากอกุศล  เป็นสมาธิได้  เปรียบเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่รักสวยรักงาม รังเกียจซากศพสัตว์ต่าง ๆ  ที่มาคล้องอยูที่คอ ฉะนั้น.

๓.  เมื่อพิจารณาโทษของความคิดฝ่ายอกุศลเหล่านั้น  ความคิดอกุศลก็ยังเกิดขึ้น    ก็พึงไม่ระลึกไม่ใส่ใจความคิดอกุศลนั้น  ก็จะละความคิดฝ่ายอกุศลได้ เกิดความสงบแห่งจิตเป็นสมาธิได้  เปรียบเสมือนคนตาดี  ไม่ต้องการเห็นรูป  ก็หลับตาเสียหรือมองไปที่อื่น

๔.  เมื่อไม่ระลึก  ไม่ใส่ใจความคิดฝ่ายอกุศล  ความคิดฝ่ายอกุศลยังเกิดขึ้น  ก็พึงใส่ใจถึงเหตุแห่งความคิดอกุศลนั้น  ก็จะทำให้ละความคิดฝ่ายอกุศลนั้นได้  เกิดความสงบแห่งจิตเป็นสมาธิได้  เปรียบเหมือนคนเดินเร็ว  เดินช้าลง หยุด ยืน นั่ง นอน เพิกอิริยาบถหยาบ ๆ  ลง  สำเร็จกิริยาบถละเอียดขึ้น.

๕.  เมื่อใส่ใจถึงเหตุแห่งความคิดฝ่ายอกุศล  ความคิดฝ่ายอกุศลยังเกิดขึ้น  ก็พึงเอาฟันกดฟัน  เอาลิ้นกดเพดาน  ข่มขี่บีบคั้นจิต  เปรียบเหมือนคนมีกำลังมาก  จับคอคนมีกำลังน้อยกว่า ข่มขี่บีบคั้น ฉะนั้น.

สรูป 

เมื่อกระทำได้อย่างนี้  ภิกษุนี้ก็ชื่อว่าชำนาญในทางเกี่ยววกับความคิด (วิตก  ความตรึก)  ประสงค์จะคิดหรือตรึกอะไรก็คิดได้ หรือประสงค์จะไม่คิดไม่ตรึกก็ละได้  นับว่าตัดตัณหาได้ คลายเครื่องร้อยรัดได้  ทำความทุกข์ให้ถึงที่สุดได้ ด้วยการตรัสรู้เรื่องของจิตโดยชอบ.


                 ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน  และขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พาลและบัณฑิต


                                             พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ หน้า ๘

                                                         

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า  บุคคลผู้ปฏิบัติผิดใน ๔ สถาน ซึ่งได้แก่  ในมารดา  ในบิดา  ในพระตถาคต  ในสาวกของพระตถาคต  ได้ชื่อว่าเป็นคนพาล และยังได้สิ่งอันไม่เป็นบุญมากด้วย

ในทางตรงกันข้าม  บุคคลผู้ปฏิบัติชอบใน  ๔ สถาน  ซึ่งได้แก่  ในมารดา  ในบิดา  ในพระตถาคต  ในสาวกของพระตถาคต  ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต และได้บุญมากด้วย

                                                             
                                                                                  (นิคมคาถา)  

                                                                     คนใดปฏิบัติผิด  ในมารดา  และใน
             
                                                          บิดา  ในพระตถาคตสัมพุทธเจ้า   และใน
                       
                                                         สาวกของพระตถาคต  คนเช่นนั้น  ย่อมได้

                                                         สิ่งอันไม่เป็นบุญมาก  เพราะความ

                                                        ประพฤติไม่เป็นธรรมในมารดาบิดาเป็นต้น

                                                        นั้น  ในโลกนี้  บัณฑิตทั้งหลายก็ติเตียนเขา

                                                        เขาตายไปแล้วยังไปอบายด้วย.


                                                                  คนใดปฏิบัติชอบในมารดาในบิดา

                                                       ในพระตถาคตสัมพุทธเจ้า  และในสาวก

                                                       ของพระตถาคต  คนเช่นนั้นย่อมได้บุญ

                                                      มากแท้ เพราะความประพฤติเป็นธรรมใน

                                                      มารดาบิดาเป็นต้นนั้น  ในโลกนี้  บัณฑิต

                                                     ทั้งหลายก็สรรเสริญเขา  เขาละโลกนี้แล้ว

                                                    ยังบรรเทิงในสวรรค์.


                                                                  .............................................





วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เป็นสาระและไม่เป็นสาระ

                 
                       พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ หน้าที่ ๓

                                 


                                                             ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย


                                                     ๘.  ชนเหล่าใด  มีปกติรู้ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ 
                                            
                                            ว่าเป็นสาระ และเห็นในสิ่งอันเป็นสาระว่า  ไม่เป็นสาระ 
                                           
                                            ชนเหล่านั้น  มีความดำริผู้เป็นโคจร  ย่อมไม่ประสบสิ่ง
                                           
                                            อันเป็นสาระ  และสิ่งที่ไม่เป็นสาระ  ชนเเหล่าใดรู้สิ่ง
                                            
                                            อันเป็นสาระ  โดยความเป็นสาระ  และสิ่งที่ไม่เป็นสาระ 
                                          
                                           โดยความไม่เห็นสาระ  ชนเหล่านั้น  ไม่ความดำริชอบ
                                         
                                            เป็นโคจร  ย่อมประสบสิ่งเป็นสาระ.

                                                  
                                                 ๙.  ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุ่งไม่ดีได้ฉันใด 
                                           
                                           ราคะย่อมเสียดแทงจิตที่ไม่ได้อบรมแล้วได้ฉันนั้น. 
            
                                          ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ฉันใด  

                                          ราคะก็ย่อมเสียดแทงจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ฉันนั้น.

                                                  
                                              ๑๐.  ผู้ทำบาปเป็นปกติ  ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้ 

                                          ละไปแล้วย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง 

                                         เขาเห็นกรรมเศร้าหมองของตนแล้ว

                                         ย่อมเศร้าโศก  เขาย่อมเดือดร้อน

                                            
                                             ๑๑.  ผู้ทำบุญไว้แล้ว  ย่อมบันเทิงในโลกนี้

                                         ละไปแล้ว  ก็ย่อมบันเทิง  ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง 

                                         เขาเห็นความหมดจนแห่งธรรมของตน 

                                        ย่อมบันเทิง  เขาย่อมรื่นเริง

                                            
                                            ๑๒.  ผู้ปกติทำบาป  ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้  

                                        ละไปแล้วย่อมเดือดร้อน  เขาย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง 

                                        เขาย่อมเดือดร้อนว่า  กรรมชั่วเราทำแล้ว  

                                       ไปสู่ทุคติย่อมเดือดร้อนยิ่งขึ้น.


                         ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศกุศลให้แก่สรรพสัตว์





วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เรื่อง พระติสสเถระ [๓] (ต่อ)

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท  เล่ม ๑  ภาค ๒  ตอน ๑  หน้า ๖๒

                                                   
                                                        ดาบสทั้งสองต่างสาปกัน

ท.  ชฎิลโกง  เราจะสาปท่าน

น.  ท่านอาจารย์  ท่านอย่าทำอย่างนี้เลย.

เธอมิเอื้อเฟื้อถ้อยคำของนารทดาบสนั้น  ยังขืนสาปนารทดาบสนั้น  (ด้วยคาถา) ว่า
"พระอาทิตย์ มีรัศมีตั้ง ๑,๐๐๐  มีปกติกำจัดความมืด,  พอพระอาทิตย์ขึ้นมาในเวลาเช้า  ขอศีรษะของท่านจงแตกออก ๗ เสี่ยง"

นารทดาบส  กล่าวว่า  "ท่านอาจารย์  โทษของผมไม่มี  เมื่อกำลังพูดอยู่ทีเดียว  ท่านได้สาปแล้ว.  โทษของผู้ใดมีอยู่  ขอศีรษะของผู้นั้นจงแตก.  ของผู้ไม่มีโทษ จงอย่าแตก"  ดังนี้แล้ว ได้สาป (ด้วยคาถา) ว่า

"พระอาทิตย์ มีรัศมีตั้ง ๑,๐๐๐  มีเดชตั้ง ๑๐๐  มีปกติกำจัดความมืด.  พอพระอาทิตย์ขึ้นมาในเวลาเช้า  ขอศีรษะของท่านจงแตกออก ๗ เสี่ยง."

และนารทดาบสนั้น มีอานุภาพใหญ่  ตามระลึกชาติได้ ๘๐ กัลป์ คือ ในอดีตกาล  ๔๐ กัลป์  ในอนาคตกาล ๔๐ กัลป์.  เพราะเหตุนั้นท่านคิดว่า  "ความสาปจักตกในเบื้องบนแห่งใครหนอแล ?"  ดังนี้  เมื่อใคร่ครวญไป  ก็ทราบว่า  "จักตกในเบื้องบนแห่งอาจารย์"  อาศัยความกรุณาในเธอ  จึงได้ห้ามอรุณขึ้นด้วยกำลังฤทธิ์"

                                                 ประชาชนเดือดร้อนตลอดถึงพระราชา

ชาวพระนคร เมื่ออรุณไม่ขึ้นอยู่ ก็พากันไปสู่ประตูพระราชวัง แล้วกราบทูลพิไรว่า  "ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อพระองค์ทรงครองราชสมบัติอยู่  อรุณไม่ขึ้น.  ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดให้อรุณขึ้น  เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด."

พระราชา ทรงพิจารณาจริยาอนุวัตร  มีกายกรรมเป็นต้น ของพระองค์ มิได้ทรงเห็นการอันไม่สมควรอะไร ๆ จึงทรงพระดำริว่า  "เหตุอะไรหนอแล ?"  ดังนี้  ทรงระแวงว่า  "ชะรอยจะเป็นความวิวาทของพวกบรรพชิต"  ดังนี้แล้ว  จึงตรัสถามว่า  "พวกบรรพชิตในพระนครนี้มีอยู่บ้างหรือ ?"  เมื่อมีผู้กราบทูลว่า  "เมื่อเวลาเย็นวานนี้  มีพวกบรรพชิตมาสู่โรงนายช่างหม้อ  พระเจ้าข้า"  พระราชามีราชบุรุษถือคบนำเสด็จไปที่นั้น  ในทันใดนั้นเอง  ทรงอภิวาทพระนารทดาบสแล้ว  ประทับ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ตรัสถามว่า

"ผู้เป็นเจ้านารทะ  การงานทั้งหลายของพวกชมพูทวีป ย่อมเป็นไปไม่ได้,  โลกเกิดมืดแล้ว  เพราะเหตุอะไร  ท่านอันข้าพเจ้าถามแล้ว  ได้โปรดบอกเหตุนั้นแก่ข้าพเจ้า."

นารทดาบส  เล่าเรื่องทั้งปวงถวายเสร็จแล้ว  ถวายพระพรว่า  "อาตมภาพ อันดาบสรูปนี้สาปแล้วเพราะเหตุนี้.  เมื่อเป็นอย่างนั้น  อาตมภาพจึงได้กล่าวสาปบ้างว่า  "โทษของข้าพเจ้าไม่มี.  โทษของผู้ใดมี;  ความสาปจงตกในเบื้องบนแห่งผู้นั้นแล"  ก็ครั้นสาปแล้วจึงคิดว่า  "ความสาปจักตกในเบื้องบนแห่งใดหนอแล ?"  เมื่อใคร่ครวญไปก็เห็นว่า  "ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น  ศีรษะของอาจารย์จักแตกออก ๗ เสี่ยง"  ดังนี้แล้ว อาศัยความกรุณาในท่าน  จึงมิให้อรุณขึ้นไป.

ร.  ก็อย่างไร  อันตรายจะไม่พึงมีแก่ท่านเล่า  ขอรับ ?.

น.  ถ้าท่านขอโทษอาตมภาพเสีย อันตรายก็จักไม่พึงมี.

ร.  ถ้าอย่างนั้น  ท่านจงขอโทษเสียเถิด.

ท.  ชฎิลนั่นเหยียบอาตมภาพ ที่ชฎาและที่คอ อาตมภาพไม่ยอมขอโทษชฎิลโกงนั่น.

ร.  ขอท่านจงขอโทษเสียเถิด ขอรับ  ท่านอย่าทำอย่างนี้.

เทวลดาบสทูลว่า  "อาตมภาพ ไม่ยอมขอโทษ"  แม้เมื่อพระราชาตรัสว่า  "ศีรษะของท่านจักแตกออก ๗ เสี่ยง "  ดังนี้  ก็ยังไม่ยอมขอโทษอยู่นั่นเอง.

ลำดับนั้น  พระราชาตรัสกับเธอว่า  "ท่านจักไม่ยอมขอโทษตามชอบใจของตนหรือ ?"  ดังนี้แล้ว  จึงรับสั่งให้ราชบุรุษจักเทวลดาบสนั้นที่มือ ที่เท้า ที่ท้อง ที่คอ  ให้ล้มลงที่บาทมูลแห่งนารทดาบส.

นารทดาบสกล่าวว่า  "อาจารย์ เชิญท่านลุกขึ้นเถิด,  ข้าพเจ้ายอมยกโทษให้แก่ท่าน  ดังนี้แล้ว ถวายพระพรว่า  "มหาบพิตร ดาบสรูปนี้หาได้ขอโทษอาตมภาพตามใจสมัครไม่, มีสระอยู่ในที่ไม่ไกลสระหนึ่ง  ขอพระองค์รับสั่งให้เธอยืนทูนก้อนดินเหนียวบนศีรษะ  นารทดาบสเรียกเทวลดาบสมาว่า  "ท่านอาจารย์  ครั้นฤทธิ์อันผมคลายแล้ว.  เมื่อแสงพระอาทิตย์ตั้งขึ้นอยู่.  ท่านพึงดำลงเสียในน้ำแล้ว  โผล่ขึ้นไปเสียโดยทางอื่น."

 ก้อนดินเหนียวบนศีรษะของเทวลดาบสนั้น  พอรัศมีแห่งพระอาทิตย์ถูกเข้าเท่านั้น  ก็แตกออก ๗ เสี่ยง,  เทวลดาบสนั้น  ดำลงหนีไปที่อื่นแล้ว.

                                                       เวรไม่ระงับด้วยผูกเวร

พระศาสดา  ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว  ตรัสว่า  "ภิกษุทั้งหลาย  พระราชาในกาลนั้น ได้เป็นอานนท์แล้ว.  เทวลดาบสได้เป็นติสสะแล้ว.  นารทดาบส ได้เป็นเราเอง.  ถึงในครั้งนั้น  ติสสะนี้ก็เป็นผู้ว่ายากอย่างนี้เหมือนกัน"  ดังนี้แล้ว รับสั่งเรียกติสสะมาแล้ว  ตรัสว่า  "ติสสะ ก้เมื่อภิกษุคิดอยู่ว่า  เราถูกผู้โน้นด่าแล้ว ถูกผู้โน้นประหารแล้ว  ถูกผู้โน้นชนะแล้ว  ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราไปแล้ว"  ดังนี้  ชื่อว่าเวรย่อมไม่ระงับได้,  แต่เมื่อภิกษุไม่เข้าไปผูกอยู่อย่างนั้นนั่นแล เวรย่อมระงับได้,  ดังนี้แล  ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า ;-

                              ๓.   อกฺโกจฺฉิ  มํ  อวธิ  มํ     อชินิ   มํ   อาหาสิ   เม
                           
                               เย  จ  ตํ   อุปมยฺยนฺติ     เวรํ   เตสํ   น   สมฺมติ.
                            
                               อกฺโกจฺฉิ  มํ    อวธิ   มํ        อชินิ   มํ   อาหาสิ   เม
                          
                               เย   จ   ตํ    นูปนยฺหนฺติ  เวรํ    เตสูปสมฺมติ.

                               "ก็ชนเหล่าใด  เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า  'ผู้โน้นได้ด่าเรา  ผู้โน้นได้ตีเรา  ผู้โน้นได้ชนะเรา  ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว'  เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่ระงับได้,  ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า 'ผู้โน้นได้ด่าเรา ผู้โน้นได้ติเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา  ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว'  เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับได้"

                                                                      แก้อรรถ

บรรดาเหล่านั้น  บทว่า  อกฺโกจฺฉิ  คือ  ด่าแล้ว  บทว่า  อวธิ  คือ  ประหารแล้ว.  บทว่า  อชินิ คือ  ได้ชนะเราด้วยการอ้างพยานโกงบ้าง  ด้วยการกล่าวโต้ตอบถ้อยคำบ้าง  ด้วยการทำให้ยิ่งกว่าการทำบ้าง

บทว่า  อหาสิ คือ ผู้โน้นได้ลักของ คือบรรดาวัตถุทั้งหลายมีผ้าเป็นต้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งของเรา

สองบทว่า เย  จ  ตํ  เป็นต้น  ความว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง คือ  เทพดาหรือมนุษย์ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต เข้าไปผูกความโกรธนั้น คือ มีวัตถุเป็นต้นว่า  "คนโน้นได้ด่าเรา"  ดุจพวกคนขับเกวียน ขันทุบเกวียนด้วยชะเนาะ และดุจพวกประมง  อันสิ่งของมีปลาเน่า เป็นต้น ด้วยวัตถุมีหญ้าคาเป็นต้น  บ่อย ๆ ,  เวรของพวกเขาเกิดขึ้นแล้ว  คราวเดียวย่อมไม่ระงับ  คือว่าย่อมไม่สงบลงได้

บาทพระคาถาว่า  เย จ  ตํ  นูปมยฺหติ  ความว่า  ชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้น คือมีคำด่าเป็นต้นเป็นที่ตั้ง  ด้วยอำนาจการไม่ระลึกถึงและการไม่ทำไว้ในใจบ้าง  ด้วยอำนาจการพิจารณาเห็นธรรมอย่างนี้ว่า  "ใคร ๆ ผู้หาโทษมิได้  แม้ท่านคงจักด่าแล้วในภพก่อน  คงจักประหารแล้ว (ในภพก่อน)  คงจักเบิกพยานโกงชนะแล้ว (ในภพก่อน)  สิ่งของอะไร ๆ  ของใคร ๆ  ท่านคงจักข่มเหงชิงเอาแล้ว (ในภพก่อน)  เพราะฉะนั้น  ท่านแม้เป็นผู้ไม่มีโทษ  จึงได้ผลที่ไม่น่าปรารถนา มีคำด่าเป็นต้น"  ดังนี้บ้าง.  เวรของชนเหล่าานั้น  แม้เกิดแล้วเพราะความประมาท  ย่อมสงบได้ด้วยการไม่ผูก (โกรธ) นี้  ดุจไฟไม่มี เธอเกิดขึ้นแล้วดับไปฉะนั้นแล.

ในกาลจบเทศนา  ภิกษุแสนหนึ่ง ได้บรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสตาาปัตติผลเป็นต้น.  พระธรรมเทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.  พระติสสเถระ ถึงเป็นคนว่ายาก ก็กลายเป็นคนว่าง่ายแล้วดังนี้แล.

                                                          เรื่อง พระติสสเถระ  จบ.

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เรื่อง พระติสสเถระ [๓]

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท  เล่ม ๑  ภาค ๒  ตอน ๑ หน้าที่ ๕๗

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระติสสเถระ  ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  "อกฺโกจฺฉิ มํ  อวธิ มํ"  เป็นต้น

พระติสสเถระเป็นผู้ว่ายากและถือตัว
ดังได้สดับมา  ท่านติสสเถระนั้น เป็นโอรสพระปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาคเจ้า บวชในกาลเป็นคนแก่ บริโภคลาภสักการะอันเกิดขึ้นแล้ว ในพระพุทธศาสนา มีร่างกายอ้วนพี มีจีวรรีดเรียบร้อยแล้ว โดยมากนั่งอยู่ที่โรงฉันกลางวิหาร.  ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย มาแล้วเพื่อประโยชน์จะเฝ้าพระตถาคต  ไปสู่สำนักแห่งเธอ  ด้วยสำคัญว่า  "นี่ จักเป็นพระเถระผู้ใหญ่"  ดังนี้แล้ว ถามถึงวัตร ถามถึงกิจควรทำ มีนวดเท้าเป็นต้น.  เธอนิ่งเสีย

ลำดับนั้น  ภิกษุหนุ่มองค์หนึ่งถามเธอว่า  "ท่านมีพรรษาเท่าไร"  เมื่อเธอตอบว่า  "ถึงไม่มีพรรษา ข้าพเจ้าบวชแล้ว ในกาลเป็นคนแก่"  จึงกล่าวว่า  "ท่านขรัวตาผู้มีอายุ  ฝึกได้ยาก"  ท่านไม่รู้จักประมาณตน.  ท่านเห็นพระเถระผู้ใหญ่มีประมาณเท่านี้แล้ว  ไม่ทำวัตรแม้มาตรว่าสามีจิกรรม  เมื่อวัตรอันพระเถระเหล่่านี้ถามโดยเอื้อเฟิ้ออยู่  ท่านนิ่งเสีย.  แม้มาตรว่าความรังเกียจ ก็ไม่มีแก่ท่าน"   ดังนี้ จึงโบกมือ (เป็นที่รุกราน)  เธอยังขัตติยมานะให้เกิดขึ้นแล้ว  ถามว่า  "พวกท่านมาสู่สำนักใคร ?"  เมื่ออาคันตุกภิกษุเหล่านั้นตอบว่า  "มาสู่สำนักของพระศาสดา"  จึงกล่าวว่า  "ก็พวกท่านคาดข้าพเจ้าว่า  "นี่ใคร ?"  ข้าพเจ้าจักตัดมูล (ตัดความเป็นสมณะ) ของพวกท่านเสียให้ได้"  ดังนี้แล้ว  ร้องไห้เป็นทุกข์เสียใจ  ได้สู่สำนักของพระศาสดาแล้ว.

พระติสสะทูลเรื่องแด่พระศาสดา
ลำดับนั้น  พระศาสดาตรัสถามเธอว่า  "ติสสะ เป็นอะไรหนอ ?"  เธอจึงเป็นทุกข์ เสียใจ มีน้ำตาอาบหน้า ร้องไห้ มาแล้ว"  ฝ่ายภิกษุเหล่านั้น (คือพวกภิกษุอาคันติกะ)  คิดว่า  "ภิกษุนั้น คงไปทำกรรมขุ่นมัวอะไร ๆ "   ดังนี้ จึงไปกับพระติสสะนั้นทีเดียว  ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว  ได้นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง  พระติสสะนั้น  อันพระศาสดาตรัสถามแล้ว  ได้กราบทูลว่า  "พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเหล่านี้ด่าข้าพระองค์"

ศ.  ก็เธอนั่งแล้วที่ไหน ?
ต.  ที่โรงฉันกลางวิหาร  พระเจ้าข้า.
ศ.  ภิกษุเหล่านี้มา เธอได้เห็นหรือ ?
ต.  เห็น  พระเจ้าข้า
ศ.  เธอได้ลุกขึ้นทำการต้อนรับหรือ ?
ต.  ไม่ได้ทำ พระเจ้าข้า
ศ.  เธอได้ถามโดยเอื้อเฟื้อถึงการรับบริขาร ของภิกษุเหล่านั้นหรือ ?
ต.  ข้าพระองค์ไมได้ถามโดยเอื้อเฝื้อ พระเจ้าข้า
ศ.  เธอได้ถามโดยเอื้อเฝื้อถึงธรรมเนียม หรือน้ำดื่มหรือ ?"
ต.  ข้าพระองค์ไม่ได้ถามโดยเอื้อเฝื้อ พระเจ้าข้า
ศ.  เธอนำอาสนะมาแล้ว ทำการนวดเท้าให้หรือ ?
ต.  ไม่ได้ทำ พระเจ้าข้า

พระติสสไม่ยอมขอขมาภิกษุ
ศ.  ติสสะ วัตรทั้งปวงนั้น เธอควรทำแก่ภิกษุผู้แก่.  การที่เธอไม่ทำวัตรทั้งปวงนั้น  นั่งอยู่ในท่ามกลางวิหาร ไม่สมควร.  โทษของเธอเองมี.  เธอจงขอโทษภิกษุทั้งหลายนั้นเสีย.

ต.  พระองค์ผู้เจริญ  พวกภิกษุนี้ได้ด่าข้าพระองค์.  ข้าพระองค์ไม่ยอมขอโทษเธอ.

ศ.  ติสสะ  เธออย่าได้ทำอย่างนี้.  โทษของเธอเองมี  เธอจงขอโทษภิกษุเหล่านั้นเสีย.

ต.  พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ไม่ยอมขอโทษภิกษุเหล่านี้.

ลำดับนั้น  พระศาสดา เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า  "ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ  พระติสสะนี้เป็นคนว่ายาก"  ดังนี้แล้ว  ตรัสว่า  "ภิกษุทั้งหลาย  ติสสะนี้  มิใช่เป็นผู้ว่ายากแต่ในบัดนี้เท่านั้น.  ถึงในกาลก่อน  ติสสะนี้ก็เป็นคนว่ายากเหมือนกัน."  เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ทั้งหลาย  ทราบความที่เธอเป็นผู้ว่ายากแต่ในบัดนี้เท่านั้น.  เธอได้ทำอะไรไว้ในอดีตกาล"  ดังนี้แล้ว  จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย  ถ้าอย่างนั้น  ท่านทั้งหลายจงฟัง"  ดังนี้แล้ว  ได้ทรงนำเรื่องอดีตมา.

บุพกรรมของพระติสสะ
ในอดีตกาล  เมื่อพระเจ้าพาราณสี เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี.  ดาบสชื่อ เทวละ  อยู่ในหิมวันตประเทศ ๘ เดือน  ใคร่จะเข้าไปอาศัยพระนครอยู่  ๔  เดือน  เพื่อต้องการจะเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว  จึงมาจากหิมวันตประเทศ พบพวกคนเฝ้าประตูพระนคร  จึงถามว่า  "พวกบรรพชิตผู้มาถึงพระนครนี้แล้ว  ย่อมพักอยู่ที่ไหนกัน ?"  เขาทั้งหลายบอกว่า  "ที่โรงนายช่างหม้อ  ขอรับ."  เธอไปสู่โรงนายช่างหม้อแล้ว  ยืนที่ประตูกล่าวว่า  "ถ้าท่านไม่มีความหนักใจ.  ข้าพเจ้าขอพักอยู่ในโรงสักราตรีหนึ่ง."  ช่างหม้อกล่าวว่า  "กลางคืน กิจของข้าพเจ้าที่โรงไม่มี.  โรงใหญ่.  นิมนต์ท่านอยู่ตามสบายเถิด  ขอรับ"  ดังนี้แล้ว  มอบโรงถวาย

เมื่อเธอเข้าไปนั่งแล้ว  ดาบสแม้อีกองค์หนึ่ง  ชื่อนารทะมาจากหินวันตประเทศ ได้ขอพักอยู่ราตรีหนึ่งกะนายช่างหม้อ.  นายช่างหม้อคิดว่า  "ดาบสองค์มาก่อน พึงเป็นผู้อยากจะอยู่ด้วยกันกับดาบสองค์นี้หรือไม่  (ก็ไม่ทราบ).  เราจะปลีกตัวเสีย"   ดังนี้แล้ว  จึงกล่าวว่า  "ถ้าท่านองค์เข้าไปก่อน  จักพอใจไซร้.  ท่านจงพักอยู่ตามความพอใจของดาบสองค์ก่อนเถิดขอรับ"  นารทดาบสนั้  เข้าไปหาเธอแล้วกล่าวว่า  "ท่านอาจารย์ ถ้าท่านไม่มีความหนักใจ.  ผมขอพักอยู่ในโรงนี้ราตรีหนึ่งเถิด"  เมื่อเธอกล่าวว่า  "โรงใหญ่.  ท่านจงเข้าไปอยู่ที่ส่วนข้างหนึ่งเภิด"  ดังนี้แล้ว  จึงเข้าไปนั่ง  ณ ที่อีกส่วนหนึ่งแห่งเธอผู้เข้าไปก่อน

โทษของการนอนไม่เป็นที่
ดาบสทั้งสองรูป  พูดปราศรัยชวนให้ระลึกถึงกันแล้ว.  ในเวลาจะนอน.  นารทดาบสกำหนดที่นอนแห่งดาบสและประตูแล้วจึงนอน.  ส่วนเทวลดาบสนั้น  เมื่อจะนอน หาได้นอนในที่ของตนไม่. (ไพล่) นอนขวางที่กลางประตู.  นารทดาบส  เมื่อออกไปในราครี  ได้เหยียบที่ชฎาของเธอ.  เมื่อเธอกล่าวว่า  "ใครเหยียบเรา ?"  นารทดาบสกล่าวว่า  "ท่านอาจารย์ ผมเอง."

ท. ชฏิลโกง ท่านมาจากป่าแล้ว เหยียบที่ชฎาของเรา.

น. ท่านอาจารย์  ผมไม่ทราบว่าท่านนอนที่นี้  ขอท่านจงอดโทษแก่ผมเถิด.  เมื่อเธอกำลังบ่นอยู่นั้นแล.  ออกไปข้างนอกแล้ว.  เทวลดาบสนอกนี้คิดว่า  "ดาบสรูปนี้  แม้เข้ามาจะพึงเหยียบเรา"  ดังนี้แล้วจึงได้ได้กลับนอนหันศีรษะไปทางเท้า

ฝ่ายนารทดาบส  เมื่อจะเข้าไปคิดว่า  "แม้ทีแรก เราได้ผิดแล้วในท่านอาจารย์.  บัดนี้ เราจะเข้าไปโดยทางเท้าของท่าน"  ดังนี้แล้ว เมื่อมา ได้เหยียบที่คอแห่งเธอ.  เมื่อเธอกล่าวว่า  "นี่ใคร ?"  จึงกล่าวว่า "ท่านอาจารย์  ผมเอง"  เมื่อเธอกล่าวว่า  "ชฏิลโกง ทีแรกท่านเหยียบที่ชฎาของเราแล้ว  เดี๋ยวนี้เหยียบที่คอเราอีก  เราจักสาปท่าน"  จึงกล่าวว่า  "ท่านอาจารย์ โทษของผมไม่มี.  ผมไม่ทราบว่าท่านนอนแล้วอย่างนั้น.  ผมเข้ามาด้วยคิดว่า  "แม้ทีแรกความผิดของเรามีอยู่.  เดี๋ยวนี้เราจักเข้าไปโดยทางเท้าท่าน  ดังนี้  ขอท่านจงอดโทษแก่ผมเถิด"

                                                   ....................................................






วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พิจารณากรรมในชีวิตประจำวัน



ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
กรรมที่แต่ละท่านกำลังกระทำอยู่ในแต่ละวัน  เป็นชีวิตประจำวันจริง ๆ   เพราะฉะนั้นไม่ควรที่จะคิดถึงเรื่องกรรมที่จะทำ  คนส่วนมากมักจะนึกถึงกรรมที่จะทำ  บางท่านอาจจะคิดไว้เตรียมไว้ว่า ปีนี้หรือปีหน้าจะทำบุญกฐิน  เดือนหน้าจะถวายทาน  ถวายสังฆทาน หรืออาทิตย์หน้าจะทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี  จะพิมพ์หนังสือสวดมนต์แจกเป็นธรรมทาน  แต่กรรมที่ท่านกำลังกระทำอยู่ขณะนี้เดี๋ยวนี้  ควรที่จะได้พิจารณาว่าเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม  แทนที่จะได้พิจารณากรรมขณะนี้เดี๋ยวนี้  เป็นกุศลกรรมหรือเปล่า  ธรรมะคือขณะนี้เดี๋ยวนี้เอง  ควรที่จะต้องพิจารณาเรื่องของจิตและเรื่องของเจตสิกทั้งหมด

เรื่องของธรรมะทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง  ไม่พ้นไปจากเรื่องขณะนี้ทั้งหมด  เพียงแต่จะเกื้อกูลให้ท่านผู้ศึกษาธรรมะให้เป็นผู้ละเอียด ที่สติจะระลึกและเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม  ที่ได้ศึกษาตรงตามความเป็นจริงหรือไม่   เพื่อที่จะให้ปัญญาเจริญขึ้นจริง ๆ  เพื่อที่จะเกื้อกูลให้สติเกิด จนกระทั่งเป็นจิตนานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง   เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง  กายานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง  ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานบ้าง  โดยอาศัยความเข้าใจพระธรรม  ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะสภาพธรรมแต่ละขณะจิตที่กำลังเกิดกับทุกท่านตามปรกติตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น  ขอให้พิจารณาว่า  ขณะนี้เป็นกุศลหรือเปล่า ?  เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ ?
ขณะนี้เดี๋ยวนี้ถ้าสติเกิด  เป็นมหากุศล ระลึกลักษณะสภาพธรรมะที่ปรากฏ  พิสูจน์ได้ด้วยตนเอง  ปัญญารู้ลักษณะสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏหรือยัง ?

                 
                     
                              ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน

                                                             ..................................................

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

คิดอกุศลทำให้เดือดร้อนใจ



ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น

ข้อความในสังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปังกธาสูตร ข้อ ๕๓๑  มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคเสด็จจากจาริกไปในโกศลชนบท  พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่  เสด็จถึงนิคมแห่งชาวโกศลชื่อปังกธา ก็โดยสมัยนั้นแล  ภิกษุชื่อ กัสสปโคตร เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ณ ปังกธานิคม ได้ยินว่า ณ ที่นั้น  พระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตต์ด้วยสิกขาบท

ครั้งนั้นแล  เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาปฏิสังยุตต์ด้วยสิกขาบทอยู่  ภิกษุกัสสปโคตรได้เกิดความขัดใจ ไม่แช่มชื่นว่า  สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก

ครั้งนั้นแล  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปังกธานิคมตามควรแก่พระอภิรมณ์แล้ว  เสด็จจาริกกลับไปทางพระนครราชคฤห์  เมื่อเสด็จจากไปโดยลำดับ  ได้เสด็จยังพระนครราชคฤห์  เมื่อเสด็จจาริกถึงพระนครราชคฤห์แล้ว  ประทับอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์

ครั้งนั้นแล  ภิกษุกัสสปโคตร  เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปได้ไม่นาน  ได้เกิดความรำคาญ เดือดร้อนว่าเราผู้เกิดความขัดใจ  ไม่แช่มชื่นว่า สมณะนี้ขัดเกลายิ่งนัก ในเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง  ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง  ด้วยธรรมิกถาอันปฏิสังยุตต์ด้วยสิกขา  ชื่อว่าเป็นอันหมดลาภ  ไม่มีลาภ ไม่ได้ดีแล้วหนอ  ถ้ากระไร เราควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ  แล้วพึงแสดงโทษโดยความเป็นโทษในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด

ลำดับนั้นแล  ภิกษุกัสสปโคตรเก็บงำเสนาสนะ  ถือบาตรและจีวร หลีกไปทางพระนครราชคฤห์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ  แล้วกราบทูลขอโทษพระผู้มีพระภาคได้โปรดทรงรับโทษของท่าน โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมระวังต่อไปเถิด

นี่ก็เป็นความวิจิตรของจิตจริง ๆ  ที่แสดงให้เห็นว่า  การคิดนึกของแต่ละคนบังคับบัญชาไม่ได้เลย  ถ้าสะสมอกุศลที่จะคิดในทางอกุศล  ก็ย่อมคิดในเรื่องอกุศลต่าง ๆ  เพราะฉะนั้น  ในสมัยนี้ ผ่านจากสมัยของพระผู้มีพระภาคมาเป็นเวลาถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี  อกุศลที่สะสมไว้้ก็เพิ่มขึ้น  ถ้ายังไม่ได้ขัดเกลาด้วยการฟังพระธรรม และน้อมประพฤติปฏิบัติตามทุกประการ  ก็ย่อมจะมีเหตุที่จะให้เกิดกุกกุจจะ (ความขัดเคืองใจ)  ได้บ่อย ๆ  เนือง ๆ  เพราะฉะนั้น  จึงควรที่จะได้พิจารณาว่า  กุกกุจจะของแต่ละท่านที่เกิดขึ้นนั้น  เกิดขึ้นเพราะอะไร  อีกประการหนึ่งก็คือ  โทสะและกุกกุจจะเกิดจากความไม่รู้  ความไม่เข้าใจ ซึ่งรวมถึงความไม่รู้ และความไม่เข้าใจบุคคลและเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วย

ทุกคนมีเหตุผล แต่ถ้าไม่พิจารณาถึงเหตุผลของคนอื่น  เอาแต่ตัวเองเป็นเครื่องวัด ก็ย่อมจะเกิดความคิดว่า  ทำไมคนนั้นไม่ทำอย่างนี้  ทำไมคนนี้ไม่ทำอย่างนั้น   หรือว่าควรจะทำอย่างนี้ ไม่ควรทำอย่างนั้น  เพราะฉะนั้น ก้ทำให้เกิดกุกกุจจะได้  ถ้าเป็นผู้ที่พยายามเข้าใจคนอื่น  แล้วก็มีความเห็นใจและให้อภัยผู้อื่น  จะเป็นผู้ที่มีความอดทนที่จะไม่แสดงกาย วาจา ให้คนอื่นเดือดร้อน  ขณะใดที่แสดงกาย วาจา กระทบกระเทือนให้คนอื่นเดือดร้อน  ตนเองย่อมเดือดร้อนในภายหลัง

ที่มาของบทความ.....คัดลอกจากบ้านธัมมะ



               
                   ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน
                                                         ...............................................

วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

ความพินาศ ๕ ประการ

ข้อความในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถา สัจจวิภังคนิทเทส นิทเทสโสกะ ข้อ ๑๙๔ แสดงถึงธรรมที่ทำให้ปราศจากสุข  ได้แก่ พยสนะ  คือ ความพินาศ ๕ ประการ ได้แก่

ญาติพยสนะ๑   โภคพยสนะ๑   โรคพยสนะ๑   สีลพยสนะ๑   ทิฏฐิพยสนะ๑.....ทุกคนจะต้องประสบกับความทุกข์ ความเศร้าโศกจากพยสนะเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้นเลย

๑.  ญาติพยสนะ  ความสูญเสียสิ้นไปแห่งญาติพี่น้อง  หรือความพินาศอันเกิดแก่ญาติด้วยภัยจากโจรผู้ร้ายและโรคภัยไข้เจ็บเป็นต้น  ญาติซึ่งเป็นที่รัก  ทุกข์ทั้งหลายต้องมาจากโลภะเป็นเหตุ  ถ้ายังมีความยินดี พอใจ ติดข้อง ต้องการ  ในสัตว์  ในบุคคล  ในวัตถุสิ่งของใด ก็จะต้องมีทุกข์อันเกิดจากของสิ่งนั้น  เมื่อมีความสูญสิ้นไปของญาติ ก็จะต้องมีความเศร้าโศกโทมนัส  หรือเมื่อญาติประสบกับภัยต่าง ๆ  อันเกิดจากถูกโจรภัย หรือโรคภัยเบียดเบียน ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องด้วยก็จะมีความทุกข์ความเสียใจด้วย แต่ถ้าเป็นผู้อื่น ก็คงจะมีความเห็นอกเห็นใจไม่มากนัก ไม่ถึงกับเป็นทุกข์ใหญ่โต

๒.  โภคพยสนะ  คือ ความพินาศซึ่งเกิดแต่โภคทรัพย์  หมายถึงความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ ด้วยอำนาจของราชภัยหรือโจรภัย เป็นต้น  เมื่อยังไม่เกิดกับแต่ละคน  ก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา  ทรัพย์สมบัติเสื่อมไป สูญไป หายไป ถ้าเป็นจำนวนนิดหน่อย ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยเศร้าโศกเสียใจหรือเดือดร้อนเท่าไร  แต่ถ้าหากว่าต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติมาก   ก็จะมีความรู้สึกหวั่นไหวและเศร้าโศกเสียใจมาก

 เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านพิจารณาว่า ถ้าขณะใดก็ตามเมื่อมีการเสื่อมทรัพย์หรือสูญเสียทรัพย์สมบัติ  แม้ว่าเป็นจำนวนมาก ก็เป็นเพียงเสมือนการทดลองการจาก เพราะเหตุว่า ต่อไปภายหน้า เราจะต้องมีการจากที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก  ต้องจากทรัพย์สิ้นทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่บางส่วนหรือส่วนใหญ่  โดยการสิ้นชีวิต  เพราะฉะนั้น เวลาที่ยังไม่สิ้นชีวิต ถ้ามีการที่จะต้องเสื่อมทรัพย์ไม่ว่าประการใดก็ตาม ก็เหมือนเป็นการทดลองหรือการพิสูจน์ความติดในทรัพย์นั้น

๓.   โรคพยสนะ  คือ ความพินาศอันเกิดจากโรคเบียดเบียน  เพราะเหตุว่า โรคต่าง ๆ ย่อมทำให้ผู้มีโรคพินาศได้  ตราบใดที่ยังไม่มีโรคเบียดเบียน ก็ยังไม่รู้สึกเป็นทุกข์  ถ้าถูกโรคร้ายแรงเบียดเบียน ก็จะเห็นว่า ทำให้เกิดทุกข์โทมนัสมาก ตามกำลังของโรคนั้น ๆ  ซึ่งหนีไม่พ้น และไม่มีใครทราบล่วงหน้าได้ว่า ภายหน้าจะมีโรคร้ายแรงขนาดไหนเกิดกับตน ซึ่งก็แล้วแต่เหตุที่ได้กระทำไว้แล้ว

๔.   สีลพยสนะ   ความพินาศไปซึ่งเกิดแต่ศีล  คือ ความทุศีลย่อมนำให้ศีลสิ้นไป  เวลาที่มีทุจริตกรรม  ขคือ การล่วงศีลเกิดขึ้น ย่อมได้รับทุกข์ด้วยประการต่าง ๆ ตั้งแต่เสื่อมเสียชื่อเสียง  ไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย และยังจะต้องได้รับผลหนักหรือเบาจากการทำอกุศลกรรม อันเนื่องจากทุุศีลนั้น ๆ  ตามกาลเวลาด้วย

๕.   ทิฏฐิพยสนะ  ความเสื่อมหรือความพินาศซึ่งเกิดจากความเห็นผิด  อันเป็นอันตรายมาก  เพราะไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความคิดพิจารณาที่ถูกต้องในเหตุผลของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงได้   เพราะฉะนั้นก็ย่อมจะนำโทษภัยใหญ่หลวงมาให้ตลอดในสังสารวัฏฏ์ได้ ถ้าตราบใดที่ยังไม่พ้นจากความเห็นผิด สังสารวัฏฏ์ย่อมไม่จบสิ้นได้

               
                      ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน

                                                              .............................................

วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

คนดุและคนสงบเสงี่ยม



                      ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น

ข้อความในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค คามนิสังยุตต์ จัณฑสูตร ข้อ ๕๘๖  มีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล นายจัณฑคามณีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ  ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ ถึงความนับว่า เป็นคนดุ เป็นคนดุ ก็อะไรหนอเป็นเหตุปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ ถึงความเป็นคนสงบเสงี่ยม เป็นคนสงบเสงี่ยม

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร นายคามณี  คนบางคนในโลกนี้ยังละราคะไม่ได้  เพราะเป็นผู้ละราคะไม่ได้  คนอื่นจึงยั่วให้โกรธ คนที่ยังละราคะไม่ได้  คนอื่นยั่วให้โกรธ ย่อมแสดงความโกรธให้ปรากฏ ผู้นั้นจึงนับได้ว่าเป็นคนดุ

ข้อความต่อไปได้ทรงแสดงถึงคนที่ยังละโทสะไม่ได้ และคนที่ละโมหะไม่ได้ โดยนัยเดียวกัน  ส่วนผู้ที่ละราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ก็ตรงกันข้าม  คือเป็นผู้สงบเสงี่ยม คือ คนอื่นไม่สามารถยั่วให้โกรธได้ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มีราคะ โทสะ โมหะน้อย

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว  นายจัณฑคามณีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก  พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก  พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกหนทางให้แก่คนหลงทาง  หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า  คนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ  ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปฯ

ท่านผู้อ่านคงจะสังเกตเห็นข้อความกล่าวซ้ำ ๆ ในพระไตรปิฏก หรือในชีวิตประจำวัน ก็จะต้องมีเหตุที่ทำให้มีการกล่าวคำซ้ำ ๆ เช่นนั้น  ซึ่งสามารถพิจารณารู้ได้.....

ข้อความในมโนรถปุรนี  อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต วรรคที่ ๒ อธิบายอภิกันตศัพท์ มีว่า

ผู้รู้พึงทำการพูดซ้ำ ๆ ในความกลัว  ความโกรธ  การสรรเสริญ  ในความรีบด่วน ในความโกลาหล ในความอัศจรรย์  ในความร่าเริง  ในความโศกเศร้า และในความเลื่อมใสดังนี้

เพราะฉะนั้น  ทุกขณะที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน  อาจจะพูดซ้ำ ๆ สติระลึกได้  รู้ว่าในขณะนั้นกลัว  หรือว่าขณะนั้นโกรธ หรือว่าขณะนั้นเศร้าโศก หรือขณะนั้นเป็นความโกลาหล หรือเป็นการสรรเสริญ  การรีบด่วน เป็นการรื่นเริง  เป็นความเลื่อมใส  ทุกขณะในชีวิตประจำวันเป็นของจริง ก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมแต่ละขณะที่ปรากฏ  เพราะฉะนั้น  สติสามารถที่จะระลึกได้  ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมที่เล็กน้อยสักเพียงใด  และไม่ว่าจะอยู่ในภพภูมิใด จะเป็นโทสมูลจิต ซึ่งเป็นความทุกข์อย่างเบาบางเล็ก ๆ น้อย ๆ  หรือว่าจะเป็นโทสมูลจิตซึ่งเป็นความทุกข์ เป็นโทมนัสเวทนาอย่างรุนแรง  สติก็สามารถจะระลึกได้ ซึ่งสำหรับในกามภูมิ สุขกับทุกข์ก็เจือปนกัน แต่ว่าในบางภูมิ สุขย่อมมากกว่าทุกข์  แต่ก็ไม่่ได้หมายความว่า จะปราศจากซึ่งทุกข์เสียเลย.


                   ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน


                                                 ........................................................




วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วันมาฆบูชา




 วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา  เป็นวันสำคัญวันหนึ่งทางพระพุทธศาสนา  ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓  ในวันนี้มีเหตุการณ์สำคัญ คือ  เป็นวันจาตุรงคสันนิบาต  หมายถึง  มีการประชุมซึ่งมีองค์ประกอบ ๔ ประการ ดังนี้

            ๑.  เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) ประกอบด้วยมาฆนักกษัตร

            ๒.  มีภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป  มาประชุมพร้อมเพรียงกัน โดยมิได้นัดหมาย  ที่พระวิหารเวฬุวัน   (อารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ซึ่งสร้างถวายโดย พระเจ้าพิมพิสาร) เมืองราชคฤห์  หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้ ๙ เดือน (๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช)

            ๓.  ภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ ทั้งสิ้น

           ๔.  ภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ (ได้รับการอุปสมบทจากพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยพระองค์ทรงเปล่งพระวาจาว่า "เอหิ ภิกขุ"  แปลว่า เธอจงเป็นภิกษุเถิด  ธรรมอันเรากล่าวไว้ดีแล้ว  เธอจงประพฤติพรหมจรรย์  เพื่อกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง  "โอวาทปาฏิโมกข์"  มีใจความว่า

                                            ขันติ  คือ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง
                                      พระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ตรัสพระนิพพานว่าเป็นยอด

                                               ผู้ทำร้ายผู้อื่น  ไม่จัดว่าเป็นบรรพชิต
                                               ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น  ไม่ชื่อว่าสมณะ

                                            การไม่ทำบาปทั้งปวง  หมายถึง  เจริญศีล
                           การทำกุศล ให้ถึงพร้อม  ด้วยการเจริญสมถะและเจริญวิปัสสนา
                         
                          ความยังจิตให้ผ่องแผ้ว  หมายถึง การเจริญปัญญาจนถึงขั้นสามารถประหาร กิเลสเป็นสมุจเฉทประหาร
                                       
                                        ๓ อย่างนี้  เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


                                                                การไม่ว่าร้าย ๑

                                                                การไม่ทำร้าย ๑

                                                       การสำรวมในปาฏโมกข์ ๑

                                                   การเป็นผู้ประมาณในโภชนะ ๑

                                                            ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑

                                                  ประกอบความเพียรในอธิจิต ๑

                                 ๖ อย่างนี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


กิจกรรมที่ชาวพุทธปฏิบัติในวันมาฆบูชาเพื่อบูชาพระรัตนตรัย
การทำบุญตักบาตรหรือการบำเพ็ญกุศลประเภทอื่น ๆ  เช่น  รักษาศีล  งดเว้นการทำบาปทั้งปวง  ปลดปล่อยชีวิตสัตว์ ถวายสังฆทาน  การฟังพระธรรมเทศนา  การสวดมนต์เจริญภาวนา  การเวียนเทียนบูชาพระรัตนตรัย

จาก...ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตร
-คัดลอก จาก...บ้านธัมมะ
-ขอขอบคุณเจ้าของรูปภาพประกอบและขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

                                           
                                                 ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน

                                                        ............................................

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ปัญญาเกิดได้อย่างไร




 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง  ขันติ  คือ  ความอดทน  เพราะฉะนั้น การที่เราจะมีปัญญาได้  ก็จะต้องมีความอดทนมาก ๆ  เลย  ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ  ไม่มีใครสามารถใช้เงินทั้งหมดทุ่มเทซื้อปัญญาได้  แต่ว่าปัญญาจะต้องเกิดจากการอบรมทีละเล็กทีละน้อย  และก็เป็นสิ่งที่เจริญช้า  ไม่เหมือนกับโลภะซึ่งไม่ต้องไปบำรุงหรือแสวงหา  เพราะเกิดอยู่ทุกวัน  ทำลายก็ยาก

ปัญญาเป็นสิ่งที่ต้องค่อย ๆ เจริญ  และค่อย ๆ เกิดขึ้น  แล้วต้องอาศัยเหตุปัจจัย คือ การฟังและต้องฟังด้วยความอดทน  การที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขยแสนกัป  ถ้าเป็นพระสารีบุตรไม่ถึง ๔ อสงไขยแสนกัป  ถ้าเป็นมหาสาวกก็น้อยลงมา

 แล้วอย่างเรานี่ถ้าไม่ฟังธรรมเลย  อย่างบางคนคิดว่าไม่ต้องเรียนพระพุทธศาสนา  ฟังแค่นิด ๆ หน่อย ๆ  สอนแค่ทำดี ละชั่วก็พอแล้ว  อย่างนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ที่เห็นคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  เพราะเหตุว่า พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ต้องเป็นประโยชน์  ถ้าไม่เรียน แล้วเราจะได่ประโยชน์จากพระธรรมได้อย่างไร  ก็ไม่มีหนทางเลย

เพราะฉะนั้น  คนที่จะได้รับมรดกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือ ปัญญา  ต้องเป็นผู้ที่อดทน มีความเพียร และก็ให้ทราบว่า ธรรมนี่สำหรับผู้ที่ปฏิบัติตามจริง ๆ  ไม่ใช่เพียงรู้แล้วก็ละเลยที่จะปฏิบัติ


                   ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                         ...........................................

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

เริ่มต้นจริง ๆ คืออย่างไร


 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ความทุกข์กายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้  ทุกข์กายมีหลายอย่าง  เพราะเหตุว่า ตราบใดที่เรามีร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า  มีความทุกข์กายเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น  บางคนนิ้วเท้าแตก  บางคนศีรษะเป็นแผล  นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีรูปร่างกายทุกข์กายก็ต้องมี  นี่ก็เป็นทุกข์ประจำชีวิต  นอกจากทุกข์กายแล้ว  ทุกข์ใจยังมีอีกมากมหาศาล  ตัวอย่าง เช่น  บางคนมีร่างกายแข็งแรงดี แต่ทำไมมีทุกข์ใจไม่จบสิ้น  บางคนมีเงินทองมากมาย  แต่ก็ยังมีทุกข์ใจอยู่นั่นเอง เป็นกังวลเรื่องเงินทอง  จะจัดการอย่างไร  จนตีหนึ่งตีสองก็ยังนอนไม่หลับ  ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรที่น่าจะเดือดร้อนเลย   นี่ก็แสดงให้เห็นว่า  นอกจากเกิดมามีทุกข์กายแล้ว  ก็ยังมีทุกข์ใจอีกมากมาย ซึ่งยากแสนยากที่จะดับให้หมดสิ้นไปได้  เพราะเหตุว่าทุกข์วันนี้อาจจะหมด  แต่พรุ่งนี้ก็มีทุกข์ใหม่เกิดอีกเรื่อย ๆ  เพราะฉะนั้นไม่รู้จักจบ  แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงจากการตรัสรู้ความจริง แล้วเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ทรงแสดงพระธรรมให้บุคคลอื่นได้ยินได้ฟัง  แล้วเกิดปัญญาของตนเอง

การเริ่มต้นฟังพระธรรม  ก็คือการฟังให้เกิดความเข้าใจ  แล้วเป็นปัญญาของเรา  เพราะเหตุว่า ตราบใดที่เรายังไม่ได้ฟังพระธรรม  ปัญญาจะเกิดไม่ได้  นอกจากเราคิดเอาเองว่า เราเข้าใจแล้ว  แต่ว่าสิ่งที่เราคิดเราเข้าใจเอง  ไม่ตรงกับที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ได้  เพราะเหตุว่า เรายังไม่ได้เทียบเคียงว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร   และความเห็นของเราจะตรงกับพระธรรมที่ทรงแสดง หรือว่าจะต่างกันมากน้อยแค่ไหน

เพราะฉะนั้น   การเทียบเคียงก็คือ   ขอให้เราฟังพระธรรม เพื่อที่เราจะได้ทราบว่า  สิ่งที่เราเคยเข้าใจนั้น ถูกต้องหรือว่าผิดจากการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค  ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมก็เป็นการเริ่มต้นของพุทธศาสนิกชน ที่จะทำให้เข้าใจได้จริง ๆ ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระปัญญาคุณ  ด้วยพระบริสุทธิคุณ  และด้วยพระมหากรุณาคุณ  ถ้าเราไม่ฟังพระธรรม เราก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้เลย  เราก็ไหว้พระจริง ไหว้รูป  แต่ไม่ทราบว่าจะระลึกพระคุณอะไร  เพราะเหตุว่า ไม่เข้าใจว่าพระคุณของพระองค์นั้น มีประการใดบ้าง  แต่ถ้าเราเริ่มฟังพระธรรม  เราก็จะเริ่มเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระปัญญาที่ได้สะสมมานานมาก  ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรแล้วก็สอนตามความคิดตามความเข้าใจ  และสิ่งที่สอนก็ง่ายแสนง่าย  ซึ่งใครก็ฟังเข้าใจได้  ถ้าเป็นในลักษณะนั้นล่ะก็ ไม่ต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยแสนกัป


                            ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                                ...............................................

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2556

ความหมายของคำว่า เหตุ



 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย


กุศลจิตและอกุศลจิตต้องประกอบด้วยเหตุ  (เหตุ ๖ ได้แก่  โลภเจตสิก โทสเจตสิก  โมหเจตสิก  อโลภเจตสิก  อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก)  กุศลจิตหรืออกุศลจิตดับไปแล้ว  ก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิด

แต่สำหรับจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ  เกิดแล้วดับแล้ว  เช่น จิตเห็น (จักขุวิญญาณจิต) ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย  มีจิต ๑๘ ดวง เท่านั้นที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย   เพราะเหตุว่า เป็นวิบากจิต คือ เป็นผล มี ๑๕ ดวง  เป็นกิริยาจิต มี ๓  ดวง

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นชาติวิบากที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย  แต่ก็ยังเป็นชาติวิบาก คือเป็นผลของกรรม    ผลของกรรมแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท  คือ วิบากจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย มี ๑๕  ดวง นอกจากนั้นเป็นวิบากจิตทั้งหมดมีเหตุเกิดร่วมด้วย

                         
                            ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                                 ..................................................

วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

อบรมความเข้าใจถูกต้อง



 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย


ต้องเป็นผู้ไม่ประมาทที่จะอบรมความเข้าใจถูกต้อง  เราสะสมกิเลสมามากมายหลากหลาย  ชีวิตวัน ๆ  ไม่พ้นอกุศลจิต  ถ้าไม่อบรมความเข้าใจถูกต้องให้มีให้เกิดขึ้น  ก็จะสะสมกิเลสเพิ่มมากขึ้น ๆ  ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่มีตัวตน  แต่มีสภาพธรรม

 เพราะฉะนั้น ก็จะเข้าใจความหมายที่ว่า ทุกอย่างหรือธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา  สิ่งที่มีไม่ใช่ว่าไม่มี แต่เป็นอนัตตา มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น  การที่จะละคลายความยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเราได้นั้น ก็จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ


                     
                     ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                             ................................................


วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

รู้กรรมไม่ใช่รู้เพียงจากเหตุการณ์


 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สำหรับการที่จะรู้กรรม  ไม่ควรที่จะเป็นเพียงเหตุการณ์  แต่สามารถที่จะรู้แม้ขณะที่กำลังเห็น  คือ  ขณะที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ  ก็จะต้องรู้ว่า  ขณะนั้นเป็นอกุศลวิบาก  แต่ว่าจิตที่เกิดหลังจากนั้น  อาจจะเป็นกุศลก็ได้  หรืออาจจะเป็นอกุศลก็ได้  แล้วแต่การพิจารณาในขณะนั้น

ชีวิตก็ดำเนินไปอย่างนี้ทุกวัน  ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดก็จะสังเกตุเห็นได้ว่า  วันหนึ่ง ๆ ไม่พ้นจากผลของกรรมและกรรมซึ่งเป็นเหตุ  ได้แก่  บุญและบาป

                     
                       ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                             ..........................................

วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

ทุกขณะเกิดเพราะเหตุปัจจัย


ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

การเจริญสติปัฏฐานจะระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม  ไม่ใช่ชื่อของสภาพธรรม  อย่างเช่น การพิจารณากาย หรือการพิจารณาผม  การนึกถึงกายหรือนึกถึงผม เป็นการเรียกชื่อ  นึกถึงเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรานึก
ไม่มีลักษณะปรากฏที่เป็นกายหรือเป็นผมให้รู้  เพียงแต่คิด

การอบรมเจริญปัญญาสามารถจะรู้ความจริงของนามธรรมและรูปธรรม วิปัสสนาญาณแรกคือ นามรูป
ปริจเฉทญาณ หรือจะใช้คำว่า สังขารปริจเฉทญาณ ก็ได้ เพราะสังขารมีทั้งนามธรรมและรูปธรรม

ปัญญาสามารถประจักษ์ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม  ไม่มีบัญญัติ  นามรูปปริจเฉทญาณเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม โดยประจักษ์ความเป็นธรรม  ขณะที่กำลังคิด สภาพคิดมีจริง  แต่คิดไม่ใช่เรา

 เพราะฉะนั้นต้องรู้ตามความจริงว่า คิดไม่ใช่เรา ไม่มีเรา แต่ถ้าไม่รู้ ก็เป็นเราไปโดยตลอด แล้วเมื่อไรจะเข้าใจ เมื่อไรจะค่อย ๆ อบรมความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ๆ ในชีวิตประจำวัน เห็นจริง ๆ ว่า  ใครก็ไม่สามารถบังคับบัญชาได้  คิดก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย  เห็นก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย  ทุกขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย


                          ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                                  ...........................................

วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

ความสุขที่แท้จริงคืออะไร




ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ทุกคนต้องการความสุขที่แท้จริง  เพราะเหตุว่าความสุขในแต่ละวันมีอยู่เพียงเล็กน้อย  เป็นความสุขที่ชั่วคราวแต่ละขณะก็หมดไปแล้ว  เห็นสิ่งที่พอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ  เพียงเล็กน้อยก็หมดไปแล้ว  เช่น  เห็นดอกไม้สวย ๆ  ก็มีความสุข  เพียงขณะเดียวก็หมดไปแล้ว  เห็นอาหารวางอยู่บนโต๊ะ  ก็มีความสุขที่จะได้รับประทาน และความสุขเล็กน้อยที่จะได้รับประทานก็หมดไป  แต่ก็ยังไม่รู้ว่า  ยังมีความสุขที่มากกว่านั้นอีก  แต่ว่ายังไม่เกิด

 เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวัน  ก็จะเห็นได้ว่า มีความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ชั่วขณะซึ่งสั้นมาก  แล้วก็ดับไป  นั่นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง  เพราะเหตุว่าเป็นความสุขที่ชั่วคราว  ที่ปรากฏแล้วก็หมดไป   ยังมีความสุขยิ่งกว่านี้  ซึ่งเป็นความสุขที่แท้จริง  แต่ก็ยังไม่รู้ว่า  ความสุขแท้จริงนั้นคืออะไร  ก็ไม่สามารถจะพบความสุขนั้นได้  ต้องรู้จักสิ่งที่มีจริง ๆ จึงจะรู้ว่าที่ชื่อว่า ความสุขแท้จริงนั้นคืออะไร  เพราะฉะนั้นชีวิตจึงเต็มไปด้วยความหวัง  แต่ว่าความหวังจะเป็นจริงหรือว่าจะสมหวัง  ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร  อย่างเช่น  ตักอาหารมาแล้วเปรี้ยวไป  หวังว่าอาหารจะอร่อย แต่รสเปลี่ยนไป  ไม่ใช่ความสุขเลย  เพราะว่าไม่สมหวัง  ความสุขก็หมดไปเพราะเหตุว่าไม่สมหวัง

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า  สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ  ถ้าได้เข้าใจความจริงว่า   ความสุขจริง ๆ  ต้องเป็นสุขที่เข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมี  เพราะว่าสิ่งนั้นกำลังมี  สิ่งอื่นไม่มี เช่น ในขณะได้ยินเสียง  เสียงมีปรากฏเดี๋ยวนี้  เสียงมีจริง ๆ  ปรากฏว่ามีชั่วคราวแล้วก็ดับไป  ในขณะมีเสียง  อย่างอื่นไม่มีปรากฏเลย  แต่ก็ยังมีความหวังอย่างอื่น ไม่สิ้นสุดความหวังเลยสักอย่างเดียว  ไม่ว่าอะไรจะกระทบทางตา หู  จมูก  ลิ้น กาย  ทางใจก็คิดถึงแต่สิ่งนั้นด้วยความหวัง  แต่ไม่เคยเห็นความหวัง และความหวังก็ไม่มีจบไม่มีสิ้นสุดเลย แล้วแต่ว่าจะหวังเรื่องอะไร

เพราะฉะนั้นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงอย่างแน่นอน  เพราะเหตุว่าเพียงหวังแล้วได้  แล้วก็หวังต่อไปอีก  จึงหวังอีกแล้วก็ได้อีก จะมีความสุขได้อย่างไร ในเมื่อไม่รู้จักพอ แล้วก็ไม่ได้เข้าใจความจริงว่าขณะนั้นเป็นอะไร  ไม่มีสิ่งอื่นเลย มีเพียงสิ่งเดียวที่ปรากฏแต่ละทาง  ทางตาที่กำลังเห็น ถ้าเป็นความเห็นที่ถูกต้อง ขณะนั้นไม่มีอย่างอื่น  มีเพียงสิ่งที่เกิดให้เห็นกับเห็นเท่านั้นเอง  แล้วก็ดับไป  ในขณะที่เสียงปรากฏ  มีเสียงที่ปรากฏกับได้ยินที่ปรากฏ  แล้วก็ดับไป  แต่หวังอะไรจากสิ่งที่เพียงปรากฏ  เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอยู่ตลอดเวลา  อย่างนี้จะเป็นความสุขที่แท้จริงได้มั้ย  ไม่มีการที่จะจบสิ้นความหวัง  ยิ่งหวังมากยิ่งเป็นทุกข์เพราะว่ามีความติดข้องด้วยความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ หลงเข้าใจว่า  สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ยั่งยืน ไม่เกิดไม่ดับ  เพราะไม่รู้ความจริงว่า แต่ละขณะจิต  จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ ชีวิตก็เป็นอยู่ชั่วขณะหนึ่งที่จิตเกิดขึ้น

ถ้าจิตนั้นดับแล้วไม่เกิดขึ้นอีก ไม่มีจิตอีกเลย ก็ไม่มีการที่จะเป็นเราหรือเป็นบุคคลอื่น  การรู้ความจริงเช่นนี้ดีมั้ย...... ข้อสำคัญที่สุด  การรู้ความจริง   แต่ไม่ใช่หมายความว่าเราจะถึงขั้นประจักษ์แจ้งความจริง  เพียงแต่กำลังสะสมความเห็นถูก  ความเห็นจริง ๆ  ในสิ่งที่มีตั้งแต่เกิดจนตายแต่ละขณะ  ความจริงความเห็นถูก คือ อย่างไรและความไม่รู้เป็นอย่างไร  เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการได้ยินได้ฟังพระธรรมเลย  ก็จะไม่รู้ ก็จะแสวงหาความสุขด้วยความหวัง  แต่ว่าไม่รู้ความจริงว่าหวังอะไร   ในสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วก็หมดไป  ทุกอย่างที่กำลังปรากฏอยู่ขณะนี้เป็นอย่างนี้  เพราะฉะนั้นบางคนอาจจะบอกว่า ความสุขที่แท้จริงคือนิพพาน  ไกลมั้ยคะ  คืออะไรก็ไม่รู้.....ไม่รู้ว้าขณะนี้มีอะไรกำลังปรากฏ  แล้วจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้อย่างไร  แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า นิพพานคือความสุข

นอกจากนั้นก็จะต้องมีความเข้าใจที่มั่นคง  ที่รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้าใจว่าเป็นเรา  ไม่มีสิ่งใดที่ยั่งยืน ความจริงก็เป็นสิ่งที่มีจริง  แต่ไม่ยั่งยืน คิดดูเถิดว่าทุกสิ่งเมื่อแตกแยกย่อยออกไปแล้ว ก็เป็นธรรมะหนึ่ง  เป็นสิ่งที่มีจริงที่หลากหลายต่างกันมาก  ตาก็ไม่ใช่หู  ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่คิด  ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นแต่ละอย่าง ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว  ก็ทำให้เข้าใจผิดคิดว่า  เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ยั่งยืน  เพราะไม่รู้ความจริง

เพราะฉะนั้นถ้าเป็นความสุขที่แท้จริง  ด้วยปัญญาที่สามารถจะเห็นความจริงว่า  ความสุขที่แท้จริงนั้น เมื่อเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังมีกำลังปรากฏ  จนสามารถประจักษ์แจ้งแล้วรู้ว่า  สิ่งที่มีจริงขณะนี้เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป  สุขมั้ย....เพียงเกิดปรากฏว่ามี  สั้นมากชั่วคราวจริง ๆ   แล้วก็ดับไป  สุขจริง ๆ หรือไม่ ?   จะเป็นสุขจริง ๆ ไม่ได้เลย  เพราะฉะนั้น  ความสุขที่แท้จริง  ก็จะต้องเริ่มจากความเห็นถูกเข้าใจถูกที่ทำให้ไม่ยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏ ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง


                              ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านและขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์